Search
Close this search box.
คุมเข้มตรึงแนวผู้ค้ารามคำแหง 53-65 สำรวจ Hawker Center ศูนย์อาหารแมชพอยด์ แฮปปี้แลนด์แมนชั่น ชมคัดแยกขยะ Foodland Supermarket หัวหมาก ส่องสวนเสรีไทย 7 แยก 4 แฟลต 1 สวน 15 นาทีแห่งใหม่ย่านบางกะปิ

(13 มี.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกะปิ ประกอบด้วย

เดินตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยรามคำแหง 53-65 ถนนรามคำแหง ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 16 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 510 ราย ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 121 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 24.00-10.00 น. 2.บริเวณถนนแฮปปี้แลนด์ สาย 2 ผู้ค้า 41 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-22.00 น. 3.ซอยลาดพร้าว 101 ผู้ค้า 80 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 4.ซอยลาดพร้าว 107 ผู้ค้า 66 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 5.ซอยลาดพร้าว 109 ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 6.ซอยนวมินทร์ 8-10 ผู้ค้า 67 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 7.ซอยโยธินพัฒนา ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 8.ซอยรามคำแหง 18-22 ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. 9.ซอยรามคำแหง 34-36 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 10.ซอยรามคำแหง 39-53 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 11.ซอยรามคำแหง 52/2 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-23.00 น. 12.ซอยรามคำแหง 53-65 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-24.00 น. 13.ซอยรามคำแหง 64/2 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.30-22.00 น. 14.ซอยหัวหมาก 9-39 ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 15.ซอยหัวหมาก 10-34 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-24.00 น. และ 16.บริเวณแยกลำสาลี ถนนศรีนครินทร์ขาออก ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้า 26 ราย ได้แก่ 1.ถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 ผู้ค้า 6 ราย 2.ซอยโพธิ์แก้ว ผู้ค้า 9 ราย 3.ท่าเรือวัดกลาง ผู้ค้า 4 ราย และ 4.ซอยรามคำแหง 105/1 ผู้ค้า 7 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าเพิ่มเติมอีก 2 จุด รวมผู้ค้า 53 ราย ได้แก่ 1.บริเวณถนนแฮปปี้แลนด์ สาย 2 ผู้ค้า 41 ราย 2.บริเวณแยกลำสาลี ถนนศรีนครินทร์ขาออก ผู้ค้า 12 ราย ในการนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำพื้นที่ทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด กำชับร้านค้าและผู้เช่าหน้าร้านไม่ให้ตั้งวางสินค้ายื่นเกินออกมานอกร้าน ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์และทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณาหาแนวทางยกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ หรือจุดที่เขตฯ สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center บริเวณศูนย์อาหารแมชพอยด์ แฮปปี้แลนด์แมนชั่น ถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 พื้นที่ 200 ตารางเมตร มีแผงค้าใต้อาคาร จำนวน 20 แผง ว่าง 3 แผง แผงค้าที่เป็นห้อง จำนวน 8 ห้อง ว่าง 2 ห้อง แผงค้าด้านนอกอาคาร จำนวน 10 แผง จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด ซึ่งการจัดทำ Hawker Center เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต (Foodland Supermarket) สาขาหัวหมาก และบริษัทถูกและดี จำกัด สำนักงานใหญ่ พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร พนักงาน 93 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ พนักงานแผนกผักและแผนกเนื้อ แยกขยะอินทรีย์ใส่ถังเฉพาะ พนักงานล้างจานแยกเศษอาหารใส่ในถังเฉพาะก่อนล้างจ้าน 2.ขยะรีไซเคิล พนักงานซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกแผนกและร้านอาหารถูกและดี แยกขวดพลาสติก แผงไข่ กระดาษ กระป๋อง ลังกระดาษ 3.ขยะทั่วไป พนักงานซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกแผนกและร้านอาหารถูกและดี แยกกระดาษชำระ ซองขนม ไม้แหลม หลอดกาแฟ ซองบะหมี่ และบรรจุภัณฑ์ที่เปื้อนอาหาร 4.ขยะอันตราย แยกใบมีดโกนและเศษแก้ว โดยใช้กระดาษห่อ แยกถุงก่อนทิ้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 110 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน

สำรวจความคืบหน้าสวน 15 นาที บริเวณซอยเสรีไทย 7 แยก 4 แฟลต 1 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการเคหะแห่งประเทศไทย ปัจจุบันการเคหะฯ ได้อนุญาตให้เขตฯ ใช้พื้นที่ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม เพื่อจัดทำสวน 15 นาที โดยปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ปลูกหญ้า จัดทำทางเดิน จัดทำม้านั่งล้อมรอบต้นไม้ใหญ่ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสาธารณะสวนพฤกษชาติคลองจั่น พื้นที่ 34 ไร่ 2.ลานกีฬาพัฒน์ 1 พื้นที่ 7 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา 3.สวนหย่อมพระราม 9 (แยกรามคำแหง) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา 4.สวนหย่อมศรีบูรพา (แปลงปันสุข) พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา 5.สวนหย่อมริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 1 งาน 37 ตารางวา 6.ลานบางกะปิภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา 7.สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 12 ไร่ (อยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม) และ 8.สวนหย่อมหมู่บ้านสินธร พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 62 ตารางวา (อยู่ในความดูแลของเอกชน) สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่า (วงในทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ถนนกรุงเทพกรีฑา) พื้นที่ 4 ไร่ 42 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 2.สวนหย่อมแปลงสามเหลี่ยม (หน้าร้านสินธร สเต็กเฮ้าส์) พื้นที่ 3 งาน 98 ตารางวา 3.สวนหย่อมโพธิ์แก้ว พื้นที่ 1 งาน 95 ตารางวา และ 4.สวนหย่อมซอยเสรีไทย 7 แยก 4 แฟลต 1 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส./ณิชนันทน์…นศ.ฝึกงาน รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200