Flag
Search
Close this search box.
สวนหลวงจับมือเดอะไนน์พระราม 9 ปั้นสวน 15 นาที ชมคัดแยกขยะตลาดเสรีมาร์เก็ต ปรับปรุงสวนสาธารณะใต้ทางยกระดับศรีนครินทร์ จับตาฝุ่นจิ๋ววัดค่าควันดำไซต์ก่อสร้างศุภาลัยปาร์คเอกมัย-พัฒนาการ

 

(11 มี.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย

ติดตามการจัดทำสวน 15 นาที ภายในศูนย์การค้าเดอะไนน์ พระราม 9 ซึ่งเขตฯ ร่วมกับศูนย์การค้าฯ ปรับปรุงพื้นที่ว่างด้านหน้าตลาดเสรีมาร์เก็ตที่อยู่ติดกับคลองลาว พื้นที่ 94 ตารางเมตร จัดทำเป็นสวน 15 นาที โดยปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ จัดวางม้านั่ง ปูพื้นทางเดินเข้าสวนด้วยอิฐรักโลก ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำอิฐรักโลกขึ้นเอง โดยใช้ทรายคั่วร้อนผสมกับขยะกำพร้า อัดใส่แบบพิมพ์สี่เหลี่ยม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตสวนหลวง ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะไนน์ พระราม 9 ร่วมกันปลูกต้นทองนพเก้า (ต้นชะแมบทอง) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงบริเวณสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมซอยพัฒนาการ 25 หรือสวนพัฒนาการไลค์พาร์ค พื้นที่ 864 ตารางเมตร 2.สวนหย่อมในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนอ่อนนุช พื้นที่ 400 ตารางเมตร 3.สวนภายในศูนย์การค้าเดอะไนน์ พระราม 9 พื้นที่ 94 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมถนนพระราม 9 พื้นที่ 780 ตารางเมตร สวน 15 นาที อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนภายในห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส พัฒนาการ พื้นที่ 100 ตารางเมตร อยู่ระหว่างออกแบบสวน 2.สวนอ่อนนุช 46 พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสาธารณะ ลักษณะพื้นที่คล้ายด้ามขวาน เขตฯ มีแนวคิดจะพัฒนาเป็นสวนน้ำ จัดทำทางเดินวิ่งรอบบึง พร้อมทั้งก่อสร้างศาลาพักผ่อนริมบึงและอาคารเอนกประสงค์

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ตลาดเสรีมาร์เก็ต ศูนย์การค้าเดอะไนน์ พระราม 9 พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ผู้ใช้บริการ 11,000 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2563 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ รวบรวมเปลือกไข่ กากกาแฟ เศษผัก มาทำปุ๋ยหมัก รวบรวมเศษผลไม้ มาทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อจำหน่ายนำรายได้เข้ามูลนิธิยุวรักษ์ รวบรวมเศษอาหารมาจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ นำรายได้เลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขวดพลาสติกและกล่องกระดาษ คัดแยกตะกร้าพลาสติกใส่ผลไม้ นำมาดัดแปลงประดิษฐ์เป็นชั้นวางของ เพื่อจำหน่ายนำรายได้เข้ามูลนิธิยุวรักษ์ ส่วนถุงพลาสติก ฟิล์มพลาสติก (ขยะวน) ขวดพลาสติก ส่งบริจาคเพื่อนำไปรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป ร้านค้าแต่ละร้านนำขยะใส่ถุงดำ รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะ รอการจัดเก็บจากเขตฯ 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะอันตราย นัดเขตฯ เข้าจัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง มีจุดรับขยะอันตรายสำหรับผู้ใช้บริการในศูนย์การค้าร่วมกับบริษัทภายนอก เพื่อนำไปกำจัดตามขั้นตอนอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 51,500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 45,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 6,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน

ติดตามโครงการปรับปรุงสวนสาธารณะใต้ทางยกระดับศรีนครินทร์-พระรามเก้า เขตสวนหลวง ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการปรับปรุงสวนสาธารณะดังกล่าว เริ่มต้นสัญญาวันที่ 28 ธันวาคม 2566 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน ประกอบด้วย 1.งานปรับปรุงห้องน้ำ จำนวน 2 หลัง ขณะนี้ผู้รับจ้างได้รื้อถอนภายในและพื้นลานรอบห้องน้ำ วางถังบำบัดน้ำเสีย ก่อผนังตามรูปแบบปรับปรุงแล้วเสร็จ ส่วนวางท่อระบบงานประปาและสุขาภิบาลแล้วเสร็จ 90% 2.งานปรับปรุงพื้นลานต่างๆ และลู่วิ่ง ผู้รับจ้างรื้อผิวพื้นลานและลู่วิ่งแล้วเสร็จ เทคอนกรีตลานวงกลม 2 ลานแล้วเสร็จ 80% 3.งานระบบไฟฟ้าภายในสวน ดำเนินการวางท่อร้อยสายแล้วเสร็จ 4.งานขุดร่องน้ำเดิมรอบสวนแล้วเสร็จ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จตามกำหนดสัญญา ซึ่งผู้รับจ้างยืนยันว่าโครงการก่อสร้างปรับปรุงสวนสาธารณะดังกล่าว จะแล้วเสร็จตามสัญญาที่กำหนดไว้ภายในเดือนมิถุนายน 2567

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานที่ก่อสร้างโครงการศุภาลัยปาร์ค เอกมัย-พัฒนาการ ตั้งอยู่ระหว่างซอยพัฒนาการ 9-11 ถนนพัฒนาการ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 2 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A เป็นห้องพักอาศัย ความสูง 30 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร และอาคาร B เป็นอาคารชุด ความสูง 27 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร มีห้องชุดรวมทั้งสิ้น 1,635 ห้อง ที่จอดรถยนต์ส่วนกลาง จำนวน 1,000 คัน และที่จอดรถจักรยานยนต์ จำนวน 36 คัน ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้ประกอบการปรับสภาพพื้นดินด้านหน้าและเทคอนกรีตให้เรียบร้อย ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้แก่ ประเภทหม้อไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์  13 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 69 ราย ดังนี้ 1.บริเวณซอยพัฒนาการ 25 ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.บริเวณซอยรามคำแหง 4 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.บริเวณซอยพัฒนาการ 34-36 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. และ 4.บริเวณซอยอ่อนนุช 17 แยก 16 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณซอยพัฒนาการ 34-36 ผู้ค้า 11 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าดังกล่าว พร้อมทั้งติดป้ายประกาศห้ามขายหรือจำหน้ายสินค้า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ หรือจุดที่เขตฯ จัดทำ Hawker Center บริเวณตลาดพัฒนาการ 34 ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่

ในการนี้มี นายบัญชา สืบกระพัน ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสวนหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส./ณิชนันทน์…นศ.ฝึกงาน รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200