“Food Bank ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายเขตทำอยู่แล้ว มูลนิธิทั้งสองก็มีประสบการณ์อยู่แล้ว ซึ่ง “การให้” เราอาจไม่ได้มองเฉพาะผลกระทบทั้งของผู้ให้และผู้รับ อาจไม่ใช่การวัดที่ว่าผู้ให้ได้ให้ไปแล้วกี่กล่อง แต่อาจจะสามารถคำนวณได้ว่าแต่ละวันมีอาหารที่เหลือเกินความต้องการเท่าไหร่และสามารถนำไปวางแผนเรื่องอื่นต่อไปได้ เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการ 10 เขต นำร่อง 3 วัน ต่อ สัปดาห์ คือ วันอังคาร พุธ พฤหัส จากนั้นจะขยายจำนวนวันและเขตพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งกทม.ต่อไป นอกจากนี้เขตจะตั้งป้ายประจำจุดบริจาคให้ชัดเจน โดยเป็นจุดทั้งสำหรับผู้ที่บริจาคประจำและผู้ที่บริจาคไม่ประจำ อาจเป็นการบริจาคเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้ผู้รับได้ทานอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต้องทำหลายเรื่องไปพร้อมกันได้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจก็สำคัญ และจะเป็นต้นแบบไปสู่เรื่องอื่นได้”
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และมูลนิธิ วีวี แชร์ (VV Share) ในวันนี้ (23 ธ.ค.65)
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบาย 216 ข้อ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มิติบริหารจัดการดีและมิติสิ่งแวดล้อมดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบางที่ขาดแคลนอาหาร และลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากอาหารส่วนเกิน โดยมีการเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วน โดยวันนี้เป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างกรุงเทพมหานคร มูลนิธิสโกลารส์ออฟ ซัสทีแนนซ์ และมูลนิธิ วีวี แชร์ เพื่อดำเนินการ 10 เขตนำร่อง ประกอบด้วย เขตบางขุนเทียน คลองเตย คลองสาน บางกอกน้อย บางแค บางพลัด พระโขนง ประเวศ ภาษีเจริญ และลาดกระบัง
ทั้งนี้หน่วยงานองค์กรที่มีอาหารส่วนเกินและประสงค์บริจาคให้กรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อแก่กลุ่มผู้รับ เช่น สถานประกอบการ โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด วัด โรงเรียนและประชาชนทั่วไป โดยกลุ่มผู้รับ ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง (เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน) ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยต่างๆ และอาหารส่วนเกินที่นำมาบริจาค (Food surplus) อาจเป็นอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารปรุงสุกที่ไม่เกินหรือระบุภายในวันที่ควรบริโภคก่อน Best before : BBF แต่ยังไม่หมดอายุ Expired ผลิตเกิน จำหน่ายไม่หมด สี รสชาติ คุณลักษณะอาจเปลี่ยนไปบ้างแต่ยังสามารถบริโภคได้ โดยไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค
นางสาวกรรณตรัตย์ วิเศษธรรมภัทร์ ประธานกรรมการมูลนิธิ SOS กล่าวว่า ขอบคุณกรุงเทพมหานครที่ร่วมมือส่งต่ออาหารให้กลุ่มคนที่ต้องการอาหารเพื่อพัฒนาชีวิตต่อไป ซึ่งหากผู้ประกอบการทิ้งไม่ได้ส่งต่อ อาหารจะเป็นแค่ขยะ ยินดีมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการมาร่วมกันพัฒนาคน สังคม ชุมชนกับ 10 เขต หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากกทม.ส่งต่ออาหารส่วนเกินอย่างปลอดภัย บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป
ด้าน นางศรินทร เมธีวัชรานนท์ รองประธานมูลนิธิ VV Share กล่าวว่า ยินดีที่กทม.เล็งเห็นปัญหาของขยะอาหารที่ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังมีประชาชนต้องการอาหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลนิธิได้ก่อตั้งในปลายปี 63 เพื่อเป็นตัวกลางให้หน่วยงานร่วมแบ่งปันอาหารให้แก่กลุ่มบุคคลด้อยโอกาส โดยไม่คิดถึงเชื้อชาติและศาสนา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานครเช่นนี้ต่อไป
สำหรับผู้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ประกอบด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวกรรณตรัตย์ วิเศษธรรมภัทร์ ประธานกรรมการมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ นางศรินทร เมธีวัชรานนท์ รองประธานมูลนิธิ วีวี แชร์ และนายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต 10 เขตนำร่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า