ยก’ราชประสงค์โมเดล’แก้จราจร ทดลองAI อัจฉริยะ…ชี้เป้าฝ่ากฎ

 ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน

ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มาประชุมติดตามเร่งรัดพัฒนา กทม. ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหาร กทม. โดยหนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงคือ ปัญหาจุดฝืดจราจรและวินัยจราจร และแนวทางแก้ปัญหาการจอดรถในที่ห้ามจอด การขับรถฝ่าไฟแดง การ กลับรถในที่ห้ามกลับ รวมถึงปัญหารถรับจ้างสาธารณะ รถ แท็กซี่ รถสามล้อ จอดกีดขวางป้ายรถโดยสารประจำทาง เกิดความไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการใช้ถนน

ซึ่ง กทม.มีแนวทางการแก้ไข เช่น นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเชื่อมโยงเครื่องมือตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ การใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่สามารถตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมายได้

ก่อนหน้านี้ กทม.ได้ทดลองนำ AI มาใช้กับกล้อง CCTV ตรวจจับผู้ขับขี่รถ จยย.บนทางเท้า พบว่าได้ “ผลดี” สามารถลดจำนวนผู้กระทำผิดลงได้ ล่าสุดจึงเตรียมนำเทคโน โลยี AI มาใช้แก้ปัญหารถรับจ้างสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถสามล้อ จอดแช่ในที่ห้ามจอด เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เนื่องด้วย กทม.ดูเฉพาะทางเท้า ไม่ได้ควบคุมการจราจรบนถนน โดยตำรวจเป็นผู้มีอำนาจออกข้อบังคับจราจร และควบคุมการจอดรถบนถนน การแก้ปัญหาจุดฝืดจุดจราจรติดขัดจึงยังต้องอาศัยตำรวจมาช่วย เพราะอำนาจบังคับใช้ตามกฎหมายเป็นของตำรวจ แต่สิ่งที่ กทม.ทำได้ขณะนี้คือการเตรียมความพร้อม เช่น ใช้เทคโนโลยีมาช่วย โดยก่อนหน้านี้ กทม.ดำเนินการทดลองแก้ปัญหารถสาธารณะ รถสามล้อ และรถแท็กซี่ จอดกีดขวางการจราจร บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าย่านราชประสงค์ ถนนราชดำริ เรียกว่า “ราชประสงค์โมเดล”โดยทำการเซตโปรแกรมให้กล้อง CCTV มีความฉลาดในการตรวจจับผู้กระทำผิด หากจอดเกินเวลาที่กำหนดไว้ จากนั้นจะมีข้อความส่งเข้ามาในระบบของเจ้าหน้าที่กทม. เพื่อประสานต่อไปยังเทศกิจเขตปทุมวันให้ดำเนินการไล่รถออกไป แต่เนื่องจากเทศกิจไม่มีอำนาจจับกุม ดังนั้น ต้องส่งข้อมูลนี้ไปยังสถานีตำรวจท้องที่ให้มาดำเนินการจับกุม ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ปัจจุบันมีการแจ้งเตือนเข้าไลน์กลุ่มตำรวจท้องที่โดยตรง

“สิ่งที่มุ่งหวังในอนาคตคือสามารถนำภาพป้ายทะเบียนที่ถ่ายไว้ได้จากกล้อง CCTV เป็นหลักฐานมาออกเป็นใบสั่ง ส่งไปให้ตามหลัง เพื่อให้มาเสียค่าปรับ เพราะเราไม่สามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปไล่รถที่จอดกีดขวางได้ตลอดเวลา ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างพูดคุยกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบก ถึงความเป็นไปได้ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทดลอง และต้องดูเรื่องข้อบังคับกฎหมายควบคู่กันไป หัวใจหลักคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”

ส่วนในอนาคตจะขยายไปถนนเส้นไหนบ้าง นายวิศณุ กล่าวว่า จากราชประสงค์โมเดลจะขยายต่อเนื่องให้ครอบคลุมทั่ว กทม. รัฐบาลให้ความสนใจจึงต้องดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วน ปัจจุบันอยู่ระหว่างเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลงทุนไม่มาก โดยจะพยายามลงทุนให้น้อย ขณะนี้จึงใช้กล้องที่มีอยู่ปรับมุมกล้องให้อยู่ในมุมที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา กทม.ทดลองนำระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ หรือระบบ Area Traffic Control : ATC มาใช้ โดยปรับสัญญาณไฟจราจรให้ฉลาดขึ้น วิธีการคือปรับสัญญาณไฟจราจรให้มีข้อมูลจากปริมาณจราจรที่แท้จริง วิเคราะห์ปริมาณจราจรจากกล้องที่มีอยู่แล้ว โดยทำระบบ AI ขึ้นมาเพื่อดูปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลา วิเคราะห์จุดติดจุดฝืดในช่วงเวลาต่าง ๆ หาวิธีการแก้ไขและปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจรในช่วงเวลานั้น ๆ

นำร่องบนถนนหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6, ถนนราชวิถี, ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยก 13 แห่ง และสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 แห่ง ในอนาคตก็ขยายระบบนี้ออกไปให้เต็มพื้นที่.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 มี.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200