อัศจรรย์วันว่างเพื่อเด็กนับล้าน ‘ปิดเทอมสร้างสรรค์’ กิจกรรมฉ่ำเว่อ

ภูษิต ภูมีคำ

ชวนลุยความสนุก (พุ่ง) นอกห้องเรียน

ปิดเทอมนับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข สำหรับเด็กนักเรียนหลายคน ที่ตั้งตารอคอยอย่างจดจ่อมาตลอดทั้งปี ซัมเมอร์นี้ถึงเวลาออกไปโลดแล่น จุดประกายความสร้างสรรค์ ออกไปเฉิดฉายนอกห้องเรียน ฉบับลุยโลดผาดโผน เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต บนพื้นที่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ แบบที่ผู้ปกครองเองก็ไม่ต้องห่วงอีกต่อไป แถมช่วยกันวางแผนสุดสนุกได้ทั้งครอบครัว

ผายมือชี้เป้าไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อค้นหากิจกรรมใกล้บ้าน ผ่านเว็บไซต์ ‘ปิดเทอมสร้างสรรค์’ สะพานที่จะเชื่อมความฝันไปสู่การลงมือทำจริง รวบรวมพื้นที่เซฟโซนให้น้องหนู ได้ทำกิจกรรมสุดสนุกใกล้บ้าน ทั้งยังเสริมสร้างรายได้แบบจุกๆ เริ่มบูสต์พลังเตรียมรับประสบการณ์ และความสนุกที่คาดไม่ถึง ชวนครอบครัวและผองเพื่อน หอบหิ้วความฝันออกไปหาทำได้แล้วตลอดซัมเมอร์นี้ เพื่อทำให้ทุกวันเป็นวันแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

ปิดเทอม ไม่ใช่แค่เรียนพิเศษ ร่วมเนรมิตช่วงเวลาแห่งทางเลือก

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เปิดตัวกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด ‘ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ’ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นำโดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. มาร่วมจุดประกายไอเดียของโครงการ

ดร.นพ.ไพโรจน์เล่าความสำคัญว่า แต่ละปีเด็กมีวันว่างรวมปิดเทอมกว่า 150 วัน มันเป็นเวลาที่เขาสามารถเรียนรู้นอกจากการเรียนหนังสือ อยากให้เป็นช่วงเวลาแห่งทางเลือก ไม่ใช่แค่เอาไปเรียนพิเศษ แต่อยากให้เขาได้เรียนรู้ชีวิต กิจกรรมนอกห้องเรียน รวมถึงประสบการณ์เกี่ยวกับอาชีพ และเสริมสร้างรายได้อีกด้วย

“ตอนเด็กปิดเทอมเราถูกให้ไปบวชเณร เข้าเรียน เข้าแคมป์ แต่ตอนนี้เด็กอยากจะทำอะไร เรามีกิจกรรมมากมายเลย สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ ปิดเทอมสร้างสรรค์ สามารถสร้างรายได้ ประสบการณ์ และความรู้ เวลา 1 ปีเด็กอยู่โรงเรียนกี่หลายร้อยวันแล้ว แต่เวลาพักผ่อน เราคงไม่ได้อยากให้เขามาเครียดกับการเรียน แต่อยากให้เป็นเวลาที่เขาได้เรียนรู้ชีวิตในทุกมิติ เราเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ และจะจัดกิจกรรมต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์เผย

ดร.นพ.ไพโรจน์เล่าอีกว่า โครงการนี้เริ่มมาเกือบ 10 ปีแล้ว จับเอาส่วนราชการต่างสื่อสารให้เด็กเขารู้ และมีแพลตฟอร์มชื่อว่าปิดเทอมสร้างสรรค์ หน่วยงานต่างๆ จะมาโพสต์กิจกรรม หรือครีเอตขึ้นมาในช่วงปิดเทอมซึ่งไม่ได้จำกัดว่าอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างเดียว

“เด็กต้องมีทักษะอื่นเข้ามาเติมเต็มนอกจากการเรียน เช่น เรื่องความเข้าใจด้านสุขภาพ ทักษะชีวิต การคบเพื่อน จัดวางแผนการเงิน (Financial literacy) หรือการทำงานที่ไม่ได้หนักถึงขั้นทำเป็นอาชีพหลัก แต่จะได้ประสบการณ์ เรียนรู้ทักษะชีวิตเรามีเป้าหมายเปิดพื้นที่กิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ ในชุมชนให้เด็กๆ เข้าถึงพื้นที่กิจกรรมที่ปลอดภัยได้ภายใน 15 นาที เนื่องจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา พบหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ สถานที่จัดงานไกลบ้าน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายการเดินทาง หรือกรณีเด็กเล็ก ผู้ใหญ่จะต้องพาไป ทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงพื้นที่กิจกรรม สสส.จึงเพิ่มการเข้าถึง ลดอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย สร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนต่างๆ ให้เด็กเข้าถึงได้มากกว่าปีที่แล้ว” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าวอย่างเปิดใจ

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหอกสำคัญในการดูแลและขับเคลื่อนหน้าตักด้านการศึกษา กทม. กล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปตอนเด็กเราคิดถึงกิจกรรม และเพื่อนที่เคยเล่นด้วยกัน ซึ่ง กทม.เล็งเห็นความสำคัญว่า ปิดเทอมนี้เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงวันหยุดที่กว้างมาก

ครอบครัวในกรุงเทพฯ ผู้ปกครองทำงานทุกวัน หยุดไม่ได้ จะพาไปเที่ยวหรือจะพาไปไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งการที่จะมีกิจกรรมสร้างสรรค์เสริมทักษะเด็ก ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ล่าสุดกรุงเทพฯ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)

“ปัจจุบันเรามีพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งคนอยากทำกิจกรรมจำนวนมากขาดพื้นที่ คนดูแลพื้นที่ขาดกิจกรรม เราจึงเอาตรงนี้มาแมตชิ่งกันว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ของเราที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีกิจกรรมเยอะขึ้นให้มาก ทาง สสส.และเครือข่ายก็มาร่วมสร้างกิจกรรมหลายอย่างที่นี่ พื้นที่บางพื้นที่คนเข้าไม่ถึง กทม.ก็พยายามจะเอามาทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ดนตรีในสวน ธรรมะในสวน อ่านหนังสือในสวน รวมถึงมีพื้นที่เอกชนอีกมากที่เราสามารถไปขอใช้พื้นที่ได้” ศานนท์ชูจุดความร่วมมือ

วิชาการ คู่ขนาน วิชาชีวิตกิจกรรมปลอดภัย หนุนพื้นที่ทางใจเด็ก

จากนั้น มาชวนมองมุมผู้ใหญ่เรี่ยวแรงสำคัญต่อส่งเสริมกิจกรรมเด็กจาก ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวว่า ช่วงเวลาปิดเทอมเป็นช่วงเวลาวันว่างที่ยาวนาน มีโอกาสสูงมากที่การเรียนรู้จะสะดุด หยุดนิ่ง หรือถดถอย หากผู้ใหญ่อย่างเราไม่ลุกขึ้นมาชวนเด็กทำกิจกรรม เพราะเป็นเรื่องยากที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาบอกว่าอยากทำกิจกรรมนู้นนี้ โดยขาดการสนับสนุนจากผู้ใหญ่

“อยากจะเชิญชวนทุกคนให้ความสำคัญกับช่วงเวลาปิดเทอม อย่าสนใจเฉพาะช่วงเปิดเทอม เพราะวิชาการต้องควบคู่ไปกับวิชาชีวิต และที่สำคัญความสุขคือพื้นฐานของจิตใจที่เข้มแข็ง อยากให้เรามา สร้างสิ่งนี้ให้กับเด็กๆ อยากให้เด็กมีวัคซีนใจที่ดี วัคซีนชีวิตที่ดี เป็นทุนที่ในการที่เขาจะเอาไปพัฒนาต่อยอด กลายเป็นคนที่มีศักยภาพของสังคม” ณัฐยากล่าว

นอกจากนี้ มาฟังเบื้องหลังคนทำงานจากปาก ผู้ลงมือคลุกคลีภาคประชาสังคมกว่า 25 จังหวัดอย่าง ทักษิณ บำรุงไทย หรือ ‘ต้นกล้า’ ตัวแทนภาคีเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ ซึ่งยกตัวอย่างวาทะซึ่งมีคนเคยบอกว่า ‘เราไม่ต้องการผู้ใหญ่ที่ใจดี แต่เราต้องการผู้ใหญ่ที่เปิดพื้นที่ และสร้างโอกาสให้กับเด็ก’ พวกตนทำงานตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีกิจกรรมหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่ส่งเสริมการอ่าน แต่ยังมีงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ การทดลอง งานคราฟต์

“เด็กจะเรียนรู้รากเหง้าพื้นถิ่นของตัวเอง เพื่อที่จะสะท้อนว่าชุมชนของเขานั้น มีต้นทุนอะไร เราจะทำให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ออกแบบพื้นที่ทางกายภาพแล้ว ยังต้องออกแบบภาวะทางจิตใจที่ดี ที่จะทำให้เขาสามารถต่อสู้กับสังคมเติบโตขึ้นอย่างดี เปิดพื้นที่รับฟัง แลกเปลี่ยน และส่งเสริมให้กล้าแสดงตัวตน

เราเริ่มต้นกันจากเครือข่าย 25 จังหวัด ตั้งเป้าว่าแต่ละจังหวัดต้องทำอย่างน้อย 10 กิจกรรม ถ้าคูณตัวเลขก็จะได้ 250 กิจกรรมทั่วประเทศ อาจจะดูน้อย แต่ปีนี้เราตั้งเป้าสร้างกิจกรรมให้ได้อย่างน้อยถึง 1,000 กิจกรรม และตั้งเป้าอีกว่าแต่ละกิจกรรมต้องมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 100 คน จนถึงเป้าใหญ่สุดท้ายว่า ปีนี้เด็กต้องเข้าร่วมกิจกรรมถึง 1 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับคนทำงานภาคประชาสังคม เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่มันมี 3 เหลี่ยมสมดุลของการทำงาน ที่ประกอบไปด้วย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ

“เราคาดหวังว่าเมื่ออยู่ในรัฐบาลพลเรือน จะสามารถส่งเสียงถึงรัฐบาลในยุคนี้ว่า อย่างน้อยเอื้ออำนวยให้เราใช้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วจำนวนมาก ไม่ได้รวมอยู่แค่ในกรุงเทพฯ แต่เด็กชนบทก็สามารถเข้าถึงพื้นที่ใกล้บ้านเดินทางได้ภายใน 15 นาที จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ถ้าเราได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน วันนี้เรามาสื่อสารงานเครือข่ายเราว่า เราจะไม่หยุดเท่านี้ เราจะทำต่อไป และหวังว่าจะสร้างกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์อัศจรรย์วันว่าง และกิจกรรมฉ่ำเว่อได้อีกต่อไป” ทักษิณกล่าวอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง

ล้มลุกคลุกทุกกิจกรรม อย่ากลัวแพ้ อย่ากลัวเจ็บ เพราะความผิดหวังสร้างการเติบโต

เมื่อพูดถึงความสร้างสรรค์ จนต้องชวนไอดอลของเด็กนับล้านมาร่วมวง รษิกา พาณีวงศ์ หรือ ‘ซอฟ’ ยูทูบเบอร์ชื่อดังเจ้าของช่อง ‘Softpomz’ มีผู้ติดตามกว่า 3.4 ล้านคน เปิดเผยว่า เด็กยุคใหม่บอกว่าตัวเองอยากเป็ยยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์เป็นอาชีพอันดับต้นๆ แต่จำได้ไหมว่าเวลาที่ครูถามตอนอนุบาลหนึ่งว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราตอบไม่ได้ เราอธิบายไม่ถูก รู้แค่ว่าอยากเป็นคนดี

พอเราโตขึ้นเราก็ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ทำทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ทำทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ตั้งแต่กิจกรรมอาสา ทาสีกำแพงวัด เชียร์ลีดเดอร์ก็ทำ ทั้งที่เต้นไม่เก่ง วิ่งไม่เร็วแต่ก็อยากลงแข่งวิ่ง เตะฟุตบอลไม่เก่งก็อยากแข่ง ล้มลุกคลุกคลานทุกครั้งที่ทำกิจกรรมที่ไม่ใช่ตัวเรา แต่ทุกเรื่องที่เราทำไม่เก่งหรือกลัวมาก มันก่อให้เกิดเป็นเราในวันนี้

“บางครั้งเราทำกิจกรรมทำไม่ได้ทำเพื่อหาตัวเอง แต่กำลังสร้างตัวเองในแบบที่อยากจะเป็นอยู่ ดังนั้นบางกิจกรรมที่ทำแล้ว มันอาจจะเป็นแค่วิธีคิด การบริหารความรู้สึก การกล้ายืนพูดต่อหน้าคนเยอะๆ การที่เราได้ช่วยเหลือ และแบ่งปันคนอื่น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มันเกิดขึ้น จากหลากหลายกิจกรรมที่เคยทำมา

ในทุกปิดเทอมที่เราสร้างตัวตนผ่านการทำกิจกรรม มันเกิดขึ้นอย่างแข็งแรงไม่ได้เพราะเราคนเดียว แต่พ่อ แม่ ผู้ปกครองของเรา มีผลมากต่อความมั่นใจของเรา ในวันหนึ่งพอเราทำกิจกรรมเยอะๆ มันจะมีวันที่เรารู้สึกผิดหวังกับกิจกรรมที่ทำ

วัยเด็กเป็นช่วงที่เราได้ลองผิดลองถูก เราก็ได้เติบโตขึ้นไปอีก ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ทุกเวลามีค่า เราควรสนุกกับมันให้มาก เพราะความหมายของมันไม่ใช่ความสำเร็จอย่างเดียว แต่มันคือการได้สนุกพร้อมกับเพื่อน ได้สนุกไปพร้อมกับพ่อแม่ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากของการทำกิจกรรม

วันนี้เราเข้าใจแล้วว่าที่เราทำกิจกรรมนั้น ที่เราเคยร้องไห้ แตะบอลแล้วเราแพ้ เราเคยรู้สึกว่าทำไม่ได้ รู้สึกว่ากลัวที่จะทำ แต่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเติบโตมาเป็นเราในวันนี้นี่เอง” รษิกาเล่าเบื้องหลังก่อนมีชื่อเสียง ทิ้งทวนรสชาติการเติบโต

ย้ำชัดว่าประสบการณ์ทุกส่วนจะทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น เป็นคนที่เราอยากจะเป็น เริ่มต้นก้าวแรกได้ใน ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่างในช่วงเวลาหยุดยาวของเด็กในวันนี้ ผู้จะเติบโตขึ้นในวันหน้าอย่างมีคุณภาพ

 

บรรยายใต้ภาพ

เปิดตัวกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด ‘ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ’ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park)

ไพโรจน์ เสาน่วม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

รษิกา พาณีวงศ์

ณัฐยา บุญภักดี

ทักษิณ บำรุงไทย

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 มี.ค. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200