กทม. – เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่สำนักเทศกิจ เขตธนบุรี นาย จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกทม. นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกทม. หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้รายงานการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,541 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,440 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,101 ราย เจ้าพนักงานจราจรไม่เห็นชอบ 9 จุด ผู้ค้า 692 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย ซึ่งในปี 2567 จะยกเลิกจุดหรือยุบรวมจุด 110 จุด ผู้ค้า 1,338 ราย ในพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยได้จัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าให้เข้าไปทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ ส่วนการจัดทำ Hawker Center ในปี 2566 ดำเนินการแล้ว 39 จุด ใน 29 เขต รองรับผู้ค้าได้ 2,826 ราย หยุดดำเนินการ 5 จุด ส่วนปี 2567 จะจัดหาสถานที่เพื่อจัดทำเพิ่มเติมอีก 28 จุด ใน 26 เขต รองรับ ผู้ค้าได้ 1,500 ราย
นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ตามที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ทุกสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการค้าหรือจุดผ่อนผัน ในจำนวน 86 จุด ประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ทำการค้า ตามแบบประเมินที่สำนักเทศกิจจัดทำขึ้น
ส่วนเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2563 ที่กำหนดให้สำนักงานเขต ทบทวนความเหมาะสมของพื้นที่ทำการค้าทุก 1 ปีนั้น นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ขอให้ทุกสำนักงานเขตมีพื้นที่ทำการค้าหรือจุดผ่อนผัน ในจำนวน 86 จุด ดำเนินการด้วยเช่นเดียวกัน ขณะที่ขยายระยะเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2566 จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2567 ขอให้ทุกสำนักงานเขตนำป้ายประชาสัมพันธ์พร้อมคิวอาร์โค้ดไปติดประกาศในพื้นที่ทำการค้า รวมถึงอาคารที่มีการทำการค้าอยู่ด้านหน้า นอกจากผู้ค้าและผู้เกี่ยวข้องแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของอาคารและประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 1 มี.ค. 2567