Search
Close this search box.
บางคอแหลมย้ายผู้ค้าเข้า Hawker Center หน้ารพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ชมต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนวัดไทร คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์งานบูทิคเจริญกรุง เปลี่ยนที่ว่างเป็นสวนสุสานโปรเตสแตนต์ 

 

 

(29 ก.พ.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางคอแหลม ประกอบด้วย 

 

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 66 ราย ได้แก่ 1.ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. และด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. 2.ซอยเจริญกรุง 99 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 3.หน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 18 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. สำหรับพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 140 ราย ได้แก่ 1.ฝั่งบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. และฝั่งตรงข้ามบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ผู้ค้า 76 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. 2.ถนนเจริญกรุง 89-91 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 3.ตลาดบางคอแหลม ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าอยู่ระหว่างรอประกาศ จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ตลาดคลองสวนหลวง ถนนเจริญกรุง 101-103 ผู้ค้า 93 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.เจริญกรุง 81-85 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-13.00 น. และ 14.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 8 ราย และด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย โดยได้ย้ายผู้ค้าเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center บริเวณพื้นที่ว่างหน้าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ขณะนี้เขตฯ ได้ดำเนินการขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตและจัดทำแผงค้าให้มีรูปแบบเดียวกัน เพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบในพื้นที่ต่อไป 

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดไทร ถนนเจริญกรุง พื้นที่ประมาณ 4,888 ตารางเมตร มีครูและบุคลากร 38 คน นักเรียน 564 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ และกิจกรรมไม่เทรวม ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้ครูบุคลากรและนักเรียนคัดแยกขยะเศษอาหาร บริเวณจุดทิ้งขยะในโรงอาหารของโรงเรียน ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหารและนำไปรวบรวมบริเวณถังพักขยะเศษอาหาร รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล จัดเก็บและรวบรวมไว้บริเวณจุดจัดเก็บขยะรีไซเคิล เมื่อได้จำนวนมากจะนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นสวัสดิการภายในโรงเรียน จัดเก็บกล่องนมโรงเรียนเพื่อเข้าโครงการหลังคาสีเขียว โดยรวบรวมไว้บริเวณจุดจัดเก็บกล่องนม รอเขตฯ จัดเก็บทุกวันพฤหัสบดี นำไปส่งไว้ที่โรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม รอสำนักสิ่งแวดล้อมมาจัดเก็บ 3.ขยะทั่วไป จัดตั้งถังรองรับและกำหนดจุดทิ้งขยะทั่วไป โดยครูบุคลากรและนักเรียนทุกคนจะนำขยะมาทิ้งในจุดที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะ โรงเรียนจะประสานเขตฯ เข้าจัดเก็บ เมื่อขยะอันตรายมีจำนวนมาก สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3,200 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนและหลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1,200 กิโลกรัม/เดือน 

 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้าง บริษัท บูทิคเจริญกรุง จำกัด (มหาชน) ถนนเจริญกรุง เป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 3 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทตรวจวัดควันดำอู่รถสาธารณะ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ร่วมกันลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนสุสานโปรเตสแตนต์ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนเดิม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ ถนนพระรามที่ 3 พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา เขตฯ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกไม้พุ่ม จัดทำทางเดิน สนามตะกร้อ สนามเปตอง และวาดภาพ 3 มิติ 2.สวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3 พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนมไหสวรรย์ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยมอบเขตฯ เป็นผู้รับผิดชอบและบำรุงรักษา อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม สำหรับสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนใหม่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนมาตานุสรณ์ ถนนมไหสวรรย์ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา ตั้งอยู่เชิงสะพานพระราม 3 กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยมอบให้เขตฯ เป็นผู้รับผิดชอบและบำรุงรักษา อยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ 2.สวนตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 พื้นที่ 118.31 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เขตฯ ปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเสร็จ 3.สวนสุสานโปรเตสแตนต์ พื้นที่ 73 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของมูลนิธิสวนสุสานโปรเตสแตนต์ เขตฯ ปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเสร็จ 4.สวนหย่อมริมถนนเจริญราษฎร์ 7 พื้นที่ 1 งาน 38 ตารางวา อยู่ระหว่างปรับปรุงและปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 5.สวนหย่อมริมถนนเจริญราษฎร์ 10 พื้นที่ 1 งาน 13 ตารางวา อยู่ระหว่างปรับปรุงและปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารเขตบางคอแหลม ได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้งบริเวณสวนสุสานโปรเตสแตนต์ เพื่อความร่มรื่น เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง 

 

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางคอแหลม สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200