Search
Close this search box.
แก้น้ำรั่วไหลจากรถขนขยะทำจยย.ล้ม ‘ชัชชาติ’จี้ล้างถนนเข้าออก-เยียวยาคนเจ็บ

“ชัชชาติ” จี้แก้ปัญหาน้ำขยะรั่วไหลจากรถขนขยะไปศูนย์กำจัด หลังจยย.ลื่นล้มอื้อ สั่งล้างถนนทางเข้า-ออกทุกวัน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) ได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำชะขยะรั่วไหลจากรถขนถ่ายขยะไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอย ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เนื่องจากมีน้ำชะขยะรั่วไหลจากรถขยะลงพื้นถนนภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยและถนนสาธารณะ ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกของศูนย์กำจัดมูลฝอยบ่อยครั้ง จึงเกิดการสะสมไขมัน และความถี่ในการล้างทำความสะอาดถนนไม่เพียงพอ ไขมันจึงสะสมมากขึ้น เมื่อมีฝนตกหรือมีน้ำบนถนน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์เสียหลักลื่นล้ม จนมีผู้บาดเจ็บ

จากการตรวจสอบสาเหตุที่น้ำชะขยะ รั่วไหลจากรถขยะ พบว่ามีหลายปัจจัย ทั้ง เจ้าหน้าที่ปิดวาล์วถังรับน้ำเสียไม่สนิท วาล์วถังรับน้ำเสียรั่วซึม เจ้าหน้าที่เปิดล็อกท้ายรถ ก่อนเทขยะในระยะไกล ไม่ปิดล็อกท้ายรถ หลังเข้าเทแล้วไปที่จุดล้าง รอยต่อท้ายรถชำรุด น้ำชะขยะรั่วซึม น้ำชะขยะซึมออกบริเวณ ฝาท้าย รถออกเดินทางในขณะที่น้ำชะขยะ ยังไหลอยู่

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ จึงกำหนดให้มีการล้างทำความสะอาดถนนภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยและถนนสาธารณะที่อยู่ด้านหน้า ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกศูนย์กำจัดมูลฝอยทุกวันอย่างต่อเนื่อง และกำชับผู้ให้เช่ารถขยะ ซ่อมรถขยะที่มีรอยรั่วไหลทันที พร้อมทั้งติดป้ายเตือนข้อปฏิบัติขณะเข้าพื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอย โดยรถขนขยะ ต้องล้างล้อรถทั้งเข้าและออกทุกคันและทุกครั้ง รถเอกชนที่ขนขยะต้องตรวจสอบน้ำรั่วไหลก่อนออกจากศูนย์กำจัด มูลฝอย และตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพดีสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากผู้รับจ้างปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา สสล. จะปรับ 1,000 บาทต่อวันต่อคัน กรณีผู้ให้เช่าปฏิเสธ ไม่ล้างรถ และปรับ 1,000 บาท ต่อวันต่อคัน กรณีผู้ให้เช่าไม่ซ่อมแซมรถให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 15 วัน

นอกจากนี้ สสล.จะประสานเขต ทั้ง 50 เขต ให้จัดประชุมเจ้าหน้าที่ กำชับให้ตรวจสอบและปิดวาล์ว น้ำเสียให้สนิท รถบรรทุกน้ำต้องระมัดระวังน้ำล้นกระฉอก พร้อมทั้งตรวจเช็คสภาพรถให้พร้อมใช้งาน หากพบว่าชำรุดให้ส่งซ่อมทันที ส่วนการเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุนั้น ผู้ประสบอุบัติเหตุจะต้องเขียนคำร้อง พร้อมหลักฐานที่ เขตที่ประสบอุบัติเหตุ จากนั้นเขตจะรวบรวม คำร้องส่ง สสล. จากนั้น สสล.จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลักฐาน สสล.จะรายงานค่าเสียหายและขออนุมัติค่าเสียหายให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุ

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 ก.พ. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200