เริ่มแล้ว! Hawker center (ฮอว์กเกอร์เซ็นเตอร์) 2 จุด สวนลุม-รามคำแหง เสร็จมี.ค. 2566 ย้ายหาบเร่นอกจุดเข้า
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาพื้นที่ทำ Hawker center แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย ว่า สำนักเทศกิจร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต สำรวจหาพื้นที่เพื่อจัดทำศูนย์อาหาร Hawker center ได้รวม 125 จุด โดยเน้นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร หน่วยราชการ และเอกชน ไม่เน้น ที่สาธารณะ พัฒนาเป็นศูนย์อาหารเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเบื้องต้นตั้งเป้าพื้นที่นำร่อง 2 จุด บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า Big C และโลตัส ถนนรามคำแหง เขตมีนบุรี และ บริเวณ ประตู 5 สวนลุมพินี เขตปทุมวัน โดยทั้ง 2 จุด เป็นที่เอกชน โดยเอกชนจะลงทุนเองทั้งหมด ที่สวนลุมพินี ทางเซ็นทรัลจะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาพื้นที่และมอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดการ ซึ่งอนาคตอาจมี ค่าธรรมเนียมตามเกณฑ์ราชการ จุดนี้จะนำผู้ค้าบริเวณ ประตู 5 สวนลุมพินีและบริเวณสารสินมารวมไว้ ส่วนที่ถนนรามคำแหง เขตมีนบุรี ทางห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ร่วมกันลงทุน และจัดการเอง โดยเขตมีนบุรีจะเป็น ตัวกลางเจรจากำหนดค่าเช่า ในอัตราต่ำที่ผู้ค้าสามารถเข้าไป อยู่ได้ จุดนี้สามารถรับได้ 150 ราย ซึ่งจะนำผู้ค้านอกจุดผ่อนผันทั้งหมดของเขตมีนบุรีที่มีอยู่ประมาณ 120 ราย เข้ามารวม ไว้จุดเดียวกัน โดยการันตีส่วนหนึ่ง ด้วยว่าจะมีประชาชนเข้ามาจับจ่าย ผู้ค้าจะขายได้
“ทั้ง 2 แห่งที่ตั้งเป้านี้ จะเป็น Hawker center จริงๆ เป็นศูนย์อาหารจริงไม่ใช่ขายเป็นหย่อมๆ รูปแบบศูนย์ฯ จะมี โครงสร้างแบบกึ่งถาวร มีโครง หลังคาชั่วคราว ไม่มีการลงเสาเข็ม แบบถาวร สามารถรื้อถอนได้ การบริหารจัดการจะเป็นแบบศูนย์อาหาร ทั้ง 2 แห่ง เตรียมการพร้อมหมดแล้ว คาดจะเริ่มก่อสร้าง 1 มกราคม 2566 นี้ และเสร็จใน 3 เดือน ระหว่างนี้ต้องทำความเข้าใจผู้ค้าให้เข้ามาเพราะอาจยังมีส่วนหนึ่งที่กลัวว่ามาแล้วขายไม่ได้ เขตก็ต้องลงไปทำความเข้าใจ ส่วนจะทำเพิ่มที่ไหนอีก อยู่ระหว่างพิจารณาซึ่ง ต้องดูศักยภาพและความเหมาะสม ของพื้นที่ รวมถึงต้องมีความยั่งยืนด้วย” นายจักกพันธุ์ กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ของ Hawker center ต้องราคาค่าเช่า ไม่แพง แผงค้า อุปกรณ์การค้า สะอาดปลอดภัย ตั้งวางถูกระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร ผู้ค้า ผู้จำหน่าย ได้รับการอบรมความรู้ ด้านสุขาภิบาลอาหาร มีจุดล้างรวม บ่อกัดไขมัน จุดแยกขยะ และทำความสะอาดสม่ำเสมอ ทั้งนี้ นอกจาก 2 จุดดังกล่าว ยังมีอีก 1 จุดสาธารณะริมถนน บริเวณ ซอยสังคโลก เขตดุสิต เป็นความ ร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ดำเนินการแล้วในรูปแบบตั้งเป็น รถเข็น มีร่มแบบเดียวกัน จัดระเบียบ เรียบร้อย สะอาด สวยงาม มีจุดล้าง ล้างรวม คัดแยกขยะ และบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจุดลักษณะนี้ จะเป็นการพัฒนาขึ้นอีกขั้นจากจุดทำการค้าเดิม ซึ่งจะมีการ ดำเนินการอีกหลายจุดตาม ความพร้อมของพื้นที่
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 22 ธ.ค. 2565