“ผู้ว่าฯกทม.มีนโยบายเส้นเลือดฝอย และเป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงมาโดยตลอด ซึ่งนโยบายของผู้บริหารที่ผ่านมาอาจเป็นเรื่องการเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นศูนย์กลาง แต่ต้องถามว่ามีกี่คนที่ทำได้ หัวข้อการบรรยายบทบาทพยาบาลกับความคาดหวังของ กทม. ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่หัวข้อควรเป็นเรื่องความคาดหวังของประชาชน หรือคนกทม. มากกว่าความคาดหวังของกทม. ทั้งนี้การทำงานในอนาคตคงมีโอกาสได้เจอทุกคนมากขึ้น เพราะเรื่องสาธารณสุข เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่อยู่ในความดูแล”
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ “บทบาทพยาบาลกับความคาดหวังของ กทม.” ในโครงการปัจฉิมนิเทศ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 229 คน เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารทีปังกรรัศมีโชติ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช เขตดุสิต
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าพูดถึงเรื่องเส้นเลือดฝอย เป็นการค้นหาคนตัวเล็กเพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมกับคนที่มีฐานะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และความหมายคือการดูแลคนที่มีโอกาสน้อย
ผู้ว่าฯ มักบอกเสมอว่า มี 2 อย่างที่ทำให้คนเท่ากันได้ และเป็นงานที่เราทำอยู่แล้ว คือ การศึกษา การทำให้โรงเรียนกทม.ไม่ใช่แค่เป็นโรงเรียนทางเลือกสุดท้าย หรือเป็นโรงเรียนสำหรับคนจนเท่านั้น และเรื่องของการสาธารณสุข
จากข้อมูลดุสิตโมเดล พบว่าในพื้นที่ในความรับผิดชอบมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 31 % ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ รวมทั้งท่ามกลางปัญหาอุปกรณ์และบุคลากรที่จำกัด ไม่เพียงพอ กลับมีจำนวนผู้คนป่วยที่มากขึ้น
การดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่ด่านหน้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ การดูแลสุขภาพของกทม.จึงไม่ใช่เพียงการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่คือการทำให้คนสุขภาพดีตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดงานพยาบาล
ทั้งนี้การเพิ่มอัตราบุคลากรด่านหน้าให้เยอะ (บุคลากรประจำศูนย์บริการสาธารณสุข) จะมีส่วนช่วยสร้างให้คนไทยสุขภาพดีได้
ซึ่งอยากให้พยาบาลรุ่นใหม่ไปช่วยกันทำให้คนสุขภาพดีเป็นด่านหน้า มากกว่าการเป็นปราการด่านสุดท้ายในการรักษาสุขภาพของประชาชน
ปัญหาสาธารณสุขของกทม.อีกอย่าง คือไม่ใช่การที่รพ. แพทย์ พยาบาลไม่มีศักยภาพ เพราะรพ. แพทย์ พยาบาลสังกัดกทม.ล้วนแต่มีศักยภาพและมีคุณภาพสูง แต่ยังขาดในเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่สามารถบริหารจัดการข้ามหน่วยได้ และยังขาดการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพรายบุคคล
จึงขอให้ทุกคนช่วยกันเปลี่ยนวิธีคิด ให้เอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง ใช้เสียงสะท้อนของประชาชนเป็นหลักในการทำงาน อย่าทำให้Voice เป็น Noice เมื่อได้รับปัญหาจากประชาชนที่สะท้อนเรื่องการทำงาน ขอให้พูดและกล้าที่จะบอกผู้บริหาร เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข
——–