ทำบุญ’มาฆบูชา’พุทธศาสนิกจัดพิธีทั่วไทยนครศรีฯแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ

ผู้ว่าฯชัชชาติ นำชาวกรุงเทพฯ ร่วม จัดพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ เนื่องใน “วันมาฆบูชา” ประจำปี 2567 เพื่อ สนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ขณะที่ทั่วไทยร่วมกิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนาทั่วหน้า

เมื่อเช้าวันที่ 24 ก.พ.2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 67 รูป เนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี 2567 ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา อีกทั้งเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย โดยภายในงานมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร บุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร และประชาชน ร่วมพิธี ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

สำหรับวันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา 6 และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่ง ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต”

วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยจะมีการประกอบพิธีต่างๆ เช่น การตักบาตร การฟัง พระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวลโดยมีพุทธศาสนิกชนจัดกิจกรรมทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ จากอินเดีย ประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ จะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม ที่ท้องสนามหลวง ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัด ได้แก่ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่, วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี และวัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่ ซึ่งจะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะ

ผู้สื่อข่าวรายงานตั้งแต่เมื่อคืน ที่ผ่านมาเป็นคืน 14 ค่ำ เดือนสาม หรือ คืนก่อนเข้าสู่วันมาฆบูชา หรือมาฆฤกษ์ ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 พุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ ต่างหลั่งไหลเดินทางมาร่วมสักการะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมามากกว่า 1 พันปี เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแต่โบราณจะเรียกว่าในภูมิภาคคาบสมุทรทะเลใต้ หลายครอบครัวเดินทางมาพักค้างบริเวณรอบวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพื่อร่วมพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

โดยการแห่ผ้าขึ้นธาตุพุทธศาสนิกชน จะนำเอาริ้วผ้าสีเหลืองเป็นหลักเทินไว้เหนือศีรษะกระทำทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จากนั้นนำผ้านั้นไปห่มสักการะองค์พระบรมธาตุเจดีย์และองค์เจดีย์บริเวณจนละลานตาไปทั่วบริเวณ ต้นธารของประเพณีนี้มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อหลายร้อยปีก่อนเมื่อครั้งราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองนครศรีธรรมราช และบรรดาหัวเมืองทะเลใต้ชาวบ้านบริเวณเมืองปากพนัง แต่เดิมเรียกว่าเมืองเบี้ยซัดได้พบกับผ้าพระบฏที่ได้ถูกวาดภาพพุทธประวัติไว้บนผ้าผืนนั้น เมื่อเก็บได้ชาวบ้าน จึงนำมาทำความสะอาด และนำขึ้นทูลเกล้า ถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จากนั้นได้รับสั่งให้นำผ้าพระบฏนั้นไปถวายเป็น เครื่องพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จนกลายเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและน่าเชื่อว่าเป็นเพียงที่เดียวในโลกที่ยังคงสืบสานประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นคุณลักษณะโดดเด่น ที่เรียกว่า “ปูชนียสถานที่ยังคงมีการสืบสาน มีชีวิตสืบต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน” เป็นคุณสมบัติสำคัญในการเป็นมรดกโลก

 

บรรยายใต้ภาพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันมาฆบูชา ณ พระอุโบสถวัด พระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 25 ก.พ. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200