(23 ก.พ. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และระบบออนไลน์
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเน้นย้ำเรื่องการประเมินความเสี่ยง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเราเปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลโรคติดต่อและมีการวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสามารถนำมาใช้ในการวางมาตรการในหลายเรื่องได้ และแม้ว่าโรคใดๆ ก็ตามที่ประชาชนติดเชื้อได้ในวงกว้างโดยที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เราก็ให้ความสำคัญในวิถีการปฏิบัติในการประเมินความเสี่ยงเช่นกันเพื่อทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ดังนั้นวิธีการทำงานของเราจะเน้นการใช้ข้อมูลและเตรียมพร้อมกันมากขึ้น ในอนาคตนอกเหนือจากวาระการประชุมในการติดตามผลการดำเนินงานแล้ว มุ่งหวังอยากให้มีวาระนำเสนอการวิเคราะห์จากแผนที่ความเสี่ยง Health Map ในแง่ของโรคติดต่อด้วย เนื่องจากได้มอบหมายสำนักอนามัยในการจัดทำแผนที่พื้นที่โควิด-19 พื้นที่ไข้เลือดออก โรคฝีดาษลิง เผื่อใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงการแพร่ระบาด นอกจากนี้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการวางมาตรการที่จะใช้ในการจัดการและการจัดสรรทรัพยากรได้
จากนั้นที่ประชุมได้รายงานผลการอนุมัติการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 หรือมีอายุระหว่าง 7 – 9 ปี ในโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง ที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง จำนวน 82,534 คน (School-base) ซึ่งจะให้บริการฉีดวัควีนระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 67
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานให้วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ตามนโยบายเร่งรัด 100 วัน ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในระยะ Quick Win สำนักอนามัย ได้บริหารจัดการวัคซีนที่ได้รับจาก สธ. ตั้งแต่ พ.ย. 66 – 11 ก.พ. 67 มีผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 147,348 คน โดยในระยะถัดไปจะดำเนินการฉีดต่อเนื่องในรูปแบบวัคซีนนักเรียน (School-based vaccination) และ Walk in ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ในวันพุธ เวลา 13.00 -15.00 น. และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์
สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ข้อมูลหลังยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ในปี 2566 มีผู้ป่วยรวม 169,780 คน ปี 2567 มีผู้ป่วย 40,579 คน ทั้งนี้สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุขได้รับจัดสรรวัคซีน COVID-19 จากกรมควบคุมโรค จำนวน 2 รายการ 1. Pfizer ฝาสีแดง สำหรับอายุ 6 เดือน – 5 ปี หมดอายุ 31 มีนาคม 2567 2. Pfizer ฝาสีเทา สำหรับอายุ 5 ปีขึ้นไป หมดอายุ 28 กุมภาพันธ์ 2567 (เป็นวัคซีนล็อตสุดท้าย) ในส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2566 มีการระบาดมากในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. พบว่าระบาดมากในกลุ่มเขตกรุงเทพกลางและกรุงเทพใต้ และส่วนใหญ่อายุ 5 -14 ปี รวมถึงรายงานสถานการณ์โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อฝีดาษวานร
สำหรับการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อเนื่องข้ามปีในพื้นที่ กทม. ปี 67 กทม. เปิด ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ในพื้นที่เขต 16 เขต ได้แก่ เขตสะพานสูง บางกะปิ จตุจักร วังทองหลาง บึงกุ่ม หนองจอก สวนหลวง ดินแดง ลาดพร้าว บางกอกใหญ่ ประเวศ หลักสี่ พระนคร ทวีวัฒนา พญาไท และบางเขน และให้สำนักงานเขตทุกเขตดำเนินการวางแผนทำ Big cleaning ร่วมกับ ศบส. ทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง เฝ้าระวังลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์/สื่อสารความเสี่ยง และควบคุมโรคเมื่อพบผู้ป่วยทันที และดำเนินมาตรการการดำเนินการโรคไข้เลือดออกในชุมชนจัดตั้ง
ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า เป็นขั้นตอนของการประกาศพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และเพื่อเป็นรายการตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
#สุขภาพดี
—————-