ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้าย

 โอกาส’ตรุษจีน’ ‘ในหลวง-ราชินี’ รำลึกบรรพบุรุษ ‘พระเทพฯ’เสด็จ ไป’งานเยาวราช’

‘ในหลวง’และ’สมเด็จพระราชินี’ เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเจิมเทียนรุ่ง เนื่องในพระราชพิธีทรง

บำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชา นอกจากนี้ ยังทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน 2567 ที่ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ ไปประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี ปิติกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ งานตรุษจีนเยาวราช

เมื่อเวลา 07.35 น. วันที่ 10 ก.พ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเจิมเทียนรุ่ง เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชา และทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2567

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย และทรงเจิมเทียนรุ่งที่ทรงพระราชอุทิศถวาย พระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัย ถวายเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงต่างๆ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชา จำนวน 7 วัด ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ต่อจากนั้น เวลา 08.01 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2567

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน ธูป ที่โต๊ะเครื่องสังเวย ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง สมควรแก่เวลา จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พิธีสังเวยพระป้าย มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ตามที่ทรงมีพระราชดำริว่า การแต้มป้ายเป็นธรรมเนียมของชนชาติจีน ซึ่งนับถือบรรพบุรุษเป็นที่พึ่ง และเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานพิธีดังกล่าว โดยมีการแต้มพระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราชกับพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญพระป้ายไปประดิษฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปัจจุบัน “พระป้าย” สำหรับประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน เป็น พระป้ายพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จารึกเป็นภาษาจีน บนแผ่นไม้จันทน์ปิดทอง และพระป้ายที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น เป็นเทวรูปหล่อ ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช เหมือน พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์มีลักษณะคล้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช สร้างด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง 5 ชั้น ตั้งอยู่ 2 ข้าง และจารึกพระปรมาภิไธยเป็นภาษาจีน ด้านหลังซุ้มเรือนแก้ว

พิธีสังเวยพระป้าย เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกอบพิธีสังเวย พระป้าย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ไปประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี

เมื่อเวลา 17.06 น. วันเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2567 ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ครั้นเสด็จฯ ถึงวัดไตรมิตรวิทยาราม คณะกรรมการวัดไตรมิตรวิทยาราม เฝ้าฯ รับเสด็จ ผู้แทนคณะกรรมการวัดไตรมิตรวิทยาราม ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระประธาน ทรงคม

จากนั้นเสด็จออกไปยังพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ทรงติดธนบัตรที่ผ้าป่าทรัพย์ระย้า เสด็จฯไปทรงวางผ้าไตรถวายพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ทรงคม ทรงติดธนบัตรที่ต้นบายศรี ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นทอง จำนวน 2 แผ่นสำหรับหล่อพระพุทธมหาสุวรรณ ปฏิมากร (จำลอง) เพื่อประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดวังปลาสร้อย จังหวัดนครสวรรค์ ทรงโปรยข้าวตอกดอกไม้ เสด็จฯไปทรงประเคนผ้าไตรแด่พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ถวายของที่ระลึก

ต่อมา ประทับรถไฟฟ้าไปยังซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา รถไฟฟ้าถึงซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธาน คณะกรรมการจัดงาน และคณะกรรมการทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย

จากนั้น นายชัชชาติกราบบังคมทูลรายงาน นายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยกราบบังคมทูลถวายพระพร ประธานกรรมการจัดงานกราบบังคมทูลเบิกผู้สนับสนุนการจัดงานเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย จำนวน 30 ราย ผู้มีอุปการคุณ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 30 ราย

ต่อมา ทอดพระเนตรการแสดงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และการแสดงจากประเทศไทยแล้วทรงวางลูกแก้ว เปิดงานตรุษจีนเยาวราช ปี 2567 เอกอัคร ราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถไฟฟ้า ไปยังโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ โดยมีคณะกรรมการโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เฝ้าฯ รับเสด็จ ต่อมาเสด็จฯ ไปยังที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม) ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม)

นายสมัย กวักเพฑูรย์ ประธานกรรมการโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิร่วมกับชาวไทยเชื้อสายจีนทูลเกล้าฯถวาย

มังกรทองคำ โดยเป็นมังกรตัวยาวประมาณ 12 ซ.ม. สูง 18 ซ.ม. ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์เท้าถือลูกแก้วลอยเหนือเมฆ ลักษณะคล้ายเลขแปดในท่าทรงอำนาจ เนื่องด้วยปีมังกร และถือว่ามังกรเป็นสัตว์มงคล

ในการนี้เสด็จฯ ไปยังวัดสัมพันธวงศาราม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระประธาน พระอุโบสถ เสด็จฯ ไปทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารพุ่มเทียนประสิทธิ์ ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และครอบครัวเทียนประสิทธิ์ เสด็จเข้าอาคารพุ่มเทียนประสิทธิ์ ทอดพระเนตรนิทรรศการ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ถวายของที่ระลึก จากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร ร้านยาจีนเซี้ยงเฮงฮั่วกี่, ธนาคารกสิกรไทย สาขาเยาวราช, ร้านทองจินฮั้วเฮง นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานกรรมการสมาคมค้าทองคำ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมังกรกมลาวาส เสด็จฯ ไปทรงวางพระหัตถ์ที่ประตูเปิดประตูชัยมงคล ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธปฏิมาตรีกาย พระประธานอุโบสถ เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสสวดถวายพระพร เสด็จฯ ไปยังวิหารเทพ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาเทพคุ้มครองชะตาชีวิต (ไท่ส่วยเอี้ย) เทพเจ้าไภษัชยราช และเทวแพทย์ฮัวโต๋ (ฮั่วท้อ)

จากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรร้านน้ำเต้าทอง นายเสถียร ธรรมสุริยะ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ครอบครัวธรรมสุริยะ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

 

บรรยายใต้ภาพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน ธูปที่โต๊ะเครื่องสังเวย ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย ในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2567 รำลึกถึงคุณงามความดีและแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 10 ก.พ.

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเปิดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ประจำปี 2567 ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 ก.พ.

 



ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 12 ก.พ. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200