“ชัชชาติ”ขีดเส้น5ด.ศึกษา แนวทางสัมปทาน”สีเขียว”

‘ชัชชาติ’ขีดเส้น5ด.ศึกษาแนวทางสัมปทาน’สีเขียว’

ผู้จัดการรายวัน 360 – “ชัชชาติ” ตั้ง กก.ศึกษาความเป็นไปได้ หลัง “บีทีเอส” หมดสัมปทานปี 72 ก่อนสรุปใช้แนวทางใหม่ หรือเดินตามคำสั่ง คสช. ภายใน 5 เดือน

วานนี้ (8 ก.พ.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีอายุ 30 ปี (ปี 2542 สิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานในปี 2572) ปัจจุบัน เหลือระยะเวลาอีก 5 ปี โดยหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทรัพย์สินของโครงการจะตกมาเป็นของ กทม. ซึ่งตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ จะมีการนำทั้งโครงการไปเข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) โดยจะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในแต่ละแนวทาง ซึ่งจะต้องรวบรวม นำเอาส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งหมดมารวมกันเป็นสัมปทานเดียว แม้ว่าหลังหมดสัมปทานในปี 2572 จะยังมีสัญญาจ้างเดินรถที่จะหมดอายุตามมาในปี 2585 ก็ตาม โดยคาดหมายว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 5 เดือน

“รูปแบบเหมือนเป็นคณะที่ปรึกษาที่จะศึกษาแนวทางในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อนว่าจะวิเคราะห์ในแนวทางไหนดี ได้สั่งการรองผู้ว่าฯ กทม. (วิศณุ ทรัพย์สมพล) ไปแล้ว โดยปลายทางหลังได้ผลการศึกษาแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน สุดท้ายก็ต้องให้ ครม.ตัดสินใจว่าจะเอาแนวทางใหม่ หรือเอาแนวทางตามคำสั่งหัวหน้า คสช.” นายชัชชาติ ระบุ

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) และผู้บริหาร กทม.เห็นชอบให้มีการจ่ายค่างานระบบเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต วงเงิน 23,488,692,200 บาท อาจจะต้องมีการรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า กทม.และสภา กทม.ได้ดำเนินการตามข้างต้นไปแล้ว และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในผลการเจรจา ของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เนื่องจากผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 2 และ 16 ส.ค. 62 ระบุว่า บริษัทผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระค่าติดตั้งงานระบบส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด ทำให้ กทม.ยุติการชำระหนี้ส่วนนี้ลง ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายค่างานตรงนี้ไป ก็จะต้องรายงานกระทรวงมหาดไทยให้ทราบ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ รมว.มหาดไทย

นายชัชชาติกล่าวถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงบางหว้า – ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 7,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ โดยรูปแบบการลงทุน น่าจะศึกษาในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เป็นตัวเลขอาจจะต้องรอการศึกษาที่เป็นทางการก่อน.

 



ที่มา:  นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 9 ก.พ. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200