(6 ก.พ. 67) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งที่ประชุมได้มีการถอดบทเรียนอุบัติเหตุกรณีผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 มาเป็นแนวทางในการลดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ช่วง 7 วันอันตราย (29 ธันวาคม 2566 ถึง 4 มกราคม 2567) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิดอุบัติเหตุ 33 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 29 ราย เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผู้เสียชีวิต 13 ราย โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ 4 อันดับสูงสุด คือ ขับเร็ว และเสียหลักล้มเอง 41.4% สภาพถนน 31% ถูกตัดหน้า/ขับตัดหน้า 20.7% และดื่มขับ/ป่วย 6.9%
สำหรับสาเหตุความรุนแรงที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมาจากการไม่สวมหมวก/ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยสูงถึง 34.5% ชนวัตถุอันตรายและข้างทาง 31% พลัดตกจากสะพาน 24.1% และถูกชน 10.3% โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงที่สุดมาจากรถจักรยานยนต์ 89.5% รถยนต์ 5.3% และคนเดินเท้า 5.3% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมาก คือช่วงหลังเที่ยงคืน 00.01-06.00 น. (57.9% ) ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย 73.7% ช่วงชีวิตที่เสียอายุมากที่สุดเป็นวัยทำงานระหว่าง 21 – 40 ปี 47.4% ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 84% และอีก 16% เป็นชาวเมียนมาร์
จากการวิเคราะห์อุบัติเหตุจักรยานยนต์ที่เสียหลักล้มเองถึงขั้นเสียชีวิตหลายราย ได้มีการตรวจสอบจุดที่เกิดอุบัติเหตุทุกจุดเพื่อปรับปรุงกายภาพ เพิ่มระบบระบบสัญญาณแจ้งเตือน เช่น ไฟ ป้าย สัญลักษณ์แจ้งเตือนเพื่อให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำในช่วง ปี 63 – 67 คือรถจักรยานยนต์เสียหลักตกสะพานทางโค้ง 6 ครั้ง เสียชีวิต 8 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย สาเหตุหลักที่หลุดโค้งเนื่องจากใช้ความเร็วเกินการออกแบบของทางโค้ง จึงเสียหลักเฉี่ยวชนกำแพงแบริเออร์คอนกรีตสะพานบริเวณช่วงทางโค้งทำให้ผู้โดยสารพลัดตกจากกำแพงแบริเออร์ ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะให้มีการการติดตั้งราวกันตกเสริม รวมทั้งตีเส้นจราจรเพื่อจัดให้มีเลนจักรยานยนต์แยกเฉพาะบริเวณสะพานกลับรถ ติดตั้งป้ายเตือนลดความเร็วและระวังเสียหลักตกสะพานกลับรถ พร้อมทั้งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ประชุมได้เน้นย้ำ 5 แนวทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ มาตรการทางด้านวิศวกรรมจราจร เช่น ติดตั้งป้องกันตกบนสะพานกลับรถ ก่อสร้างสะพานกลับรถสำหรับรถจักรยานยนต์ การปรับปรุงราวกันอันตรายทางโค้ง การทำช่องทางเฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์ มาตรการจำกัดความเร็วในพื้นที่เขตชุมชนและชุมชนเมือง มาตรการจัดการกลุ่มดื่มแล้วขับ มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงความเสี่ยง และมาตรการจัดการแก้ไขทางด้านกายภาพถนน โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยง
—————–