สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จฯทรงเปิดงาน ตรุษจีนเยาวราช 10 ก.พ. นี้ กทม.วอนลด-งด จุดธูปเทียน- เผากระดาษ เข้มมาตรการด้านสุขภาพ-ความปลอดภัย
วันที่ 29 ม.ค.2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพ มหานคร น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร ถึงการจัดงานเทศกาลตรุษจีนและมาตรการดูแลความปลอดภัย ว่า กรุงเทพมหานครสนับสนุนการจัดงานเทศกาลตรุษจีน ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัย โดยสำนักเทศกิจ (สทศ.) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) สำนักการแพทย์ (สนพ.) สำนักอนามัย (สนอ.) จัดเจ้าหน้าที่ ประจำจุดต่างๆ ดูแลอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยด้วย
ขณะที่เทศกาลตรุษจีนเยาวราช จะจัดขึ้นระหว่าง 10-11 ก.พ. 2667 ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน ในวันที่ 10 ก.พ. 2567 เวลา 17.00 น. ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ภายในงาน จะมีกิจกรรม อาทิ เวทีการแสดงหลัก ติดตั้งโคมไฟ ประดับ จัดซุ้มประตู จัดแสดงภาพนิทรรศการความสัมพันธ์ไทย-จีน หรือพระราชกรณียกิจ จัดแลนด์มาร์ค ปีนักษัตร ปีมะโรง การแสดงโชว์สิงโตบนเสาดอกเหมย พิธีจุดเทียนถวายพระพร
ในส่วนของศาลเจ้าต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวน 78 แห่ง เบื้องต้นมีศาลเจ้า 4 แห่ง กำหนดจัดงาน ได้แก่ 1.ศาลเจ้าเซียนแปะโค้ว เขตลาดกระบัง วันที่ 10 ก.พ. 2567 2.ศาลเจ้าเห้งเจีย เขตบางพลัด วันที่ 9-10 ก.พ. 2567 3.ศาลเจ้าพ่อปุงเถ่ากง เขตบางพลัด วันที่ 9-10 ก.พ. 2567 และ 4.ศาล เจ้าพ่อเสือ เขตบางกะปิ วันที่ 10 ก.พ. 2567 ขณะเดียวกันยังมีศูนย์การค้าต่างๆ ที่จัดงานเทศกาลตรุษจีน อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน ไอคอนสยามด้วย
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครกำหนดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ผ่านจุด ให้บริการนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 17 จุด ได้แก่ 1.กองการท่องเที่ยว ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า 2.อุโมงค์หน้าพระลาน 3.ท่าช้าง 4.ท่าเตียน 5.วัดบวรนิเวศวิหาร 6.ท่าผ่านฟ้า 7.เยาวราช 8.ริเวอร์ซิตี้ 9.พญาไท 10.อนุสาวรีย์ชัยฯ 11.สวนเบญจสิริ 12.โรงแรม แอมบาสซาเดอร์ 13.ถนนสีลม 14.จตุจักร 15.มาบุญครอง 16.สยามพารากอน และ 17.แพลทินัม
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือ ประชาชน ลดการจุดธูปเทียน ลด งดเว้นเผากระดาษ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด รวมทั้ง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
บรรยายใต้ภาพ
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม.
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2567