(25 ม.ค.67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับแบบประเมินด้านความหยุ่นตัวต่อภัยพิบัติของเมือง ภาคผนวก – การมีส่วนร่วมของผู้พิการในการวางแผนและดำเนินงานด้านภัยพิบัติ (Disaster Resilience Scorecard for Cities – Annex for the Inclusion of Persons with Disabilities) ณ ห้องประชุมชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบเมื่อเกิดสาธารณภัย ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงประเด็นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน ความหยุ่นตัวของเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ แผนดังกล่าวยังขาดการบูรณาการในเรื่องของคนพิการ
กรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมโครงการ Making Cities Resilient 2030 (MCR2030) และทำแบบประเมินเบื้องต้นด้านความหยุ่นตัวต่อภัยพิบัติของเมือง (Preliminary Assessment – Disaster Resilience Scorecard for Cities) ซึ่งเป็นเครื่องมือของเครือข่าย MCR2030 ที่สามารถสนับสนุนการชี้วัดความหยุ่นตัวของเมืองในด้านต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยภาคผนวกเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้พิการในการวางแผนและดำเนินงานด้านภัยพิบัติ (Disaster Resilience Scorecard for Cities – Annex for the Inclusion of Persons with Disabilities) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงสภาพแวดล้อมในเมืองเพื่อไม่ให้คนพิการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และส่งเสริมความเข้าใจที่ว่า ความต้องการของคนพิการมีความแตกต่างหลากหลาย ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการมีส่วนร่วมของคนพิการเพื่อให้แน่ใจว่าความต้องการและการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกันได้รับการพิจารณาอย่างเต็มที่
โดยการประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับภาคผนวกด้านการมีส่วนร่วมของผู้พิการในการวางแผนและดำเนินงานด้านภัยพิบัติของแบบประเมินฯ และขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงคำแปลและเนื้อหาของแบบประเมินฯ ให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานคร
ในการนี้ ดร. ปาริฉัตต์ ครองขันธ์ สำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักงานการต่างประเทศ ร่วมประชุม
——————–