(18 ธ.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานเชิดชูเกียรติ “วันคนพิการสากลกรุงเทพมหานคร” ประจำปี 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
ในโอกาสวันคนพิการสากลซึ่งตรงกับวันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านคนพิการ สสส. และภาครัฐ ภาคเอกชนจากหลายหน่วยงาน จัดงานเทศกาล Bangkok for all #กรุงเทพฯเพื่อทุกคน โดยงานเชิดชูเกียรติ “วันคนพิการสากลกรุงเทพมหานคร” ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 65 โดยในปีนี้มีความพิเศษเพราะเป็นครั้งแรกที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปและคนพิการได้มาร่วมทำกิจกรรมเพื่อได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมและชีวิตประจำวัน มีความเข้าใจกัน และนำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ร่วมกัน
• “เผยนโยบาย 5 ดี ขับเคลื่อนเมืองเพื่อทุกคน”
ความร่วมมือร่วมใจในการจัดกิจกรรมงานเทศกาล Bangkok for all ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนตระหนักในความสำคัญของความเท่าเทียม และการพัฒนาเมืองไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการซึ่งมีเป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร และบางส่วนมีศักยภาพพร้อมที่จะแบ่งปัน แต่บางส่วนยังต้องได้รับการดูแลและพัฒนา และอีกบางส่วนอาจต้องการเพียงความเข้าใจและการสนับสนุนโอกาสก็จะสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะขับเคลื่อนงานด้านคนพิการของกรุงเทพมหานครผ่านนโยบาย 5 ด้าน ได้แก่
ด้านสุขภาพดี มุ่งส่งเสริมให้คนพิการมีสุขภาพดี สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เช่น จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 แห่ง และจัดรถโมบายยูนิตทันตกรรมให้บริการแก่คนพิการในชุมชน
ด้านเรียนดี การส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรครูให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาพิเศษ สามารถจัดการเรียนการสอนให้เด็กพิการได้ เช่น การฝึกอบรมครู กทม.เป็นครูการศึกษาพิเศษ และการจัดการเรียนรวมในโรงเรียนสังกัด กทม.
ด้านเศรษฐกิจดี กรุงเทพมหานครเป็นผู้นำในการจ้างงานคนพิการ มุ่งเน้นการฝึกอาชีพคนพิการสู่การมีงานทำและการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน เช่น จ้างงานคนพิการใน 50 สำนักงานเขต และในหน่วยงานของ กทม. จ้างอาสาสมัครเทคโนโลยี ส่งเสริมการแสดงดนตรีหรือศิลปะในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมทักษะทางอาชีพสำหรับคนพิการ
ด้านโครงสร้างและเดินทางดี การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ในข้อมูลข่าวสารโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางที่ดี จำเป็นต้องมีต้นแบบที่ดีเป็นรูปธรรม โดยมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย เช่น จัดหารถเพื่อรับส่งคนพิการและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ปรับทางเท้าให้คนพิการสามารถใช้บริการได้ และจัดทำทางม้าลายที่คนพิการทางสายตาสามารถใช้บริการได้
ด้านบริหารจัดการดี การพัฒนาต้นแบบหรือมาตรฐาน เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ด้วยการออกแบบที่เป็นสากล (UD) ในอาคารสถานที่ การเดินทางหรือระบบขนส่งยานพาหนะ และสภาพแวดล้อม เช่น จัดทำ LINE OFFICIAL ACCOUNT ชื่อ “BANGKOK FOR ALL”
• “เปิดตัว Line OA “BANGKOK FOR ALL”
สำหรับ Line OA “BANGKOK FOR ALL” ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดทำขึ้นเป็นช่องทางให้ผู้พิการได้ติดตามข่าวสาร สิทธิประโยชน์ของตัวเอง เช่น ข้อมูลข่าวสารคนพิการจาก NINA การยื่นขอเบี้ยคนพิการและทำธุรกรรมออนไลน์กับ กทม. ข้อมูลบริการเมืองใจดีจาก สสส. พร้อมรับส่วนลดสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน อาทิ ส่วนลดค่าเดินทางจาก Grab จองรถตู้สำหรับวีลแชร์ ส่วนลดค่าสินค้าจาก Lazada ประกันภัยจากบริษัทประกัน รวมถึงช่องทางที่จะให้คนพิการเข้าถึงสื่ออื่น ๆ เช่น ชุมชนออนไลน์ของคนพิการ สื่อสมัยใหม่ และ Influencer เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลอดทั้ง 5 วันของงานเทศกาล Bangkok for all ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และบริเวณสี่แยกปทุมวัน sky walk เต็มไปด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งดนตรี ศิลปะ การแสดงความสามารถของเด็ก เยาวชน และคนพิการ ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก เช่น การจัดทําบัตรคนพิการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ บูธกิจกรรมให้ความรู้ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และบูธจัดจ้างงานคนพิการ และการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล Universal Design บูธให้คำปรึกษาด้านการศึกษาแก่เด็กพิการ บูธออดิชั่นสำหรับผู้พิการที่ประสงค์จะขอมีบัตรผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ โมเดลการจ้างงานผู้พิการในตําแหน่ง AI Trainer เรียนรู้นวัตกรรม AI Text-to-speech ผลงานของผู้พิการ และทดลองเล่นเกม Nintendo ด้วยนวัตกรรมปลากด อุปกรณ์กายภาพบําบัดสำหรับเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นเกม ทําให้ผู้ใช้สามารถทํากายภาพบําบัดไปพร้อมกับการเล่นเกม
ภายในงานยังได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนพิการในหลายกิจกรรม เช่น Blind Theatre สัมผัสประสบการณ์ปิดตาดูหนังเรื่อง “พรจากฟ้า” ทดลองใช้ “ปากกาเล่นเส้น” อุปกรณ์วาดเขียนสำหรับคนตาบอด ใช้เส้นไหมพรมจากปากกาเล่นเส้น ทำให้เกิดเป็นเส้นสายที่สัมผัสได้ คนตาบอดสามารถสัมผัสภาพและต่อเติมจินตนาการต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ พร้อมทั้งให้ผู้มาร่วมงานสามารถร่วมเวิร์กช็อปเรียนรู้ภาษามือขั้นพื้นฐาน เรียนแล้วได้ลองใช้ภาษามือสั่งอาหารได้ที่หน้างานซึ่งจัดเต็ม Food Truck & Craft Market บูธให้ความรู้และขายงานฝีมือคนพิการ
นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีสดจากหลายกลุ่มหลายค่ายที่มีชื่อเสียง เช่น ค่ายโลมาบิน ค่าย BEC Tero และ Spacebar Music Hub และวงดนตรีคนพิการชื่อดัง S2S บริเวณลานหน้าหอศิลป์ ดนตรีเด็กพิเศษ ของน้อง Natawut ดนตรีเปิดหมวก จากสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย บน sky walk ดนตรีจากวงนายน้อย วงศูนย์เยาวชนคลองเตย วงดนตรีกองการสังคีต กทม. The Proper Clan วง Happy Unlimited และการแสดงของน้องๆ EDeaf เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนร่วมกิจกรรม อาทิ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท แกร็บแท็กซี่(ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลาซาด้า จำกัด ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (MBK) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด BTSC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท Vulcan Coalition จำกัด
#BANGKOKForALL #กรุงเทพฯเพื่อทุกคน
——————————-