“ชัชชาติ” เร่งชงสภากทม. 24 ม.ค.นี้ เคาะใช้เงินสะสม 5.1 หมื่นล้านบาท ชำระหนี้ E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท หวั่นหากช้าถูกค่าปรับเพิ่ม 310 ล้านบาท ด้านทิสโก้ประเมิน D/E บีทีเอสลดเหลือ 2.8 เท่า จาก 3.2 เท่า ลดดอกเบี้ยจ่ายปีละ 900 ล้านบาท แนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 9 บาท อัพไซด์ 32%
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ลงมติเสียงข้างมาก 44 เสียง เห็นชอบให้ กทม.รับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรือ E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ) พร้อมชำระหนี้ค่าติดตั้งงาน E&M ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS วงเงิน 23,488,692,200 บาท โดยให้ กทม. จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รายการระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 1 ระบบ วงเงิน 23,488,692,200 บาท โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมนั้น
ล่าสุดคณะผู้บริหาร กทม.จึงได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 เพื่อพิจารณาวาระขอความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเห็นชอบรายการเพื่อขอจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ในวงเงินไม่เกิน 23,488,692,200 บาท โดยจ่ายขาดจากเงินสะสม กทม. ซึ่งสำนักงบประมาณ สำนักการคลัง และสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้รายงานภาพรวมของโครงการ คาดการณ์ฐานะเงินสะสมของ กทม. ประจำปี 2567 ณ วันที่ 16 มกราคม 2567 ว่ามีเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน จำนวน 51,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม.เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงิน และเห็นชอบรายการเพื่อขอจัดตั้งงบประมาณดังกล่าว และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ ได้รายงานต่อที่ประชุมสภา กทม.เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ว่า จะเร่งจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณ นำเสนอที่ประชุมสภา กทม.พิจารณาในวันที่ 24 มกราคม 2567 ควบคู่ไปกับการรายงานความคืบหน้าต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพราะแม้ว่า กทม.จะมีรูปแบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่สามารถบริหารจัดการงบประมาณเองได้ ไม่ต้องเสนอของบประมาณรัฐ แต่เรื่อง E&M นี้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงต้องขอความชัดเจนจาก ครม.ก่อนที่ กทม.จะชำระหนี้แก่ BTS
โดยตามกรอบเวลาที่นายชัชชาติ รายงานต่อที่ประชุมสภา กทม.เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 นั้น กทม.จะต้องเบิกเงินเพื่อชำระแก่ BTS ภายในวันที่ 9 เมษายน 2567 เพราะหากล่าช้ากว่ากำหนดการดังกล่าว จะทำให้ กทม.เสียหายเป็นเงินประมาณ 310 ล้านบาท จากการกลับไปรับภาระดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายเต็มจำนวน และต้องรับภาระดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มเติมอันเนื่องจากการชำระหนี้ล่าช้าต่อไปเรื่อย ๆ ด้วย
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด มองว่า BTS จะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นหลังจากได้รับชำระคืนหนี้ดังกล่าว โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้และจะทำให้อัตราส่วน Net D/E ลดลงจาก 3.2 เท่า เหลือ 2.8 เท่า ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ยจ่าย ได้ปีละประมาณ 900 ล้านบาท ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ เม.ย. 2560-พ.ค. 2564 มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุดคาดจะมีผลตัดสินออกมาเร็ว ๆ นี้ และหากศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิพากษาตามศาลปกครองกลาง กทม.จะต้องชำระหนี้ดังกล่าวภายใน 180 วัน
สำหรับราคาหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ณ วันที่ 19 ม.ค. ปรับตัวลดลง 4.23% มาปิดที่ 6.80 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 409 ล้านบาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 9 บาท อัพไซด์ 32%
ที่มา: นสพ.ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2567