สภากทม. เสนอเพิ่มศักยภาพบุคลากร ทางการแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุม แก้ปัญหาโรครุมเร้าคนกรุงฯ
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.)เขตลาดกระบัง เสนอญัตติในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2567 ญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุมในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกเผย พบ 1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ โดยรวมและการดำเนินชีวิตประจำวัน ของประชาชน และ ข้อมูลจากสำนักการแพทย์ ช่วงปี 2564-2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่ม สูงขึ้น โดยในปี 2566 มีผู้รับบริการคลินิกสุขภาพจิตในโรงพยาบาลสังกัดกทม. จำนวน 51,776 ราย แบ่งเป็น กลุ่มอาการทางจิตเวชที่พบมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.กลุ่มอาการจิตเภท 2.กลุ่มอาการวิตกกังวล 3.กลุ่มอาการจิตเภทแบบระแวง 4.กลุ่มอาการกลัวสุดขีดจนผิดปกติ 5.กลุ่มอาการปรับตัวที่ผิดปกติ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวช เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ขาดแคลนทั้งในเชิงปริมาณและทักษะในการบำบัดด้านจิตเวชที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และเรื้อรัง โดยโรงพยาบาล สังกัดกทม. ที่มีบริการคลินิกจิตเวช มี 9 โรงพยาบาล ได้แก่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธร รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน และรพ.เวชการุณย์รัศมิ์ มีจิตแพทย์ จำนวน 12 คน นักจิตวิทยา จำนวน 15 คน ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยจิตเวช จึง ขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มศักยภาพ บุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุมในโรงพยาบาลสังกัดกทม.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อัตราของจิตแพทย์ ในโรงพยาบาลสังกัดกทม.มีน้อยจริง และไม่เพียงพอต่อสถานการณ์โรคที่รุมเร้าคนกรุงเทพฯ ขณะนี้ได้สั่งให้สำนักการแพทย์เร่งจัดหา บุคลากรให้เต็มกรอบอัตรากำลัง ในช่วง ระหว่างนี้จะหารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้บริการ Teleconsult กับจิตแพทย์ ในสถานพยาบาลอื่น ทั้งสังกัดกระทรวง สาธารณสุข และสังกัดอื่น โดยนักจิตวิทยาและจิตวิทยาคลินิกที่มีอยู่จะเป็นผู้พูดคุยและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ก่อนการพบจิตแพทย์
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 19 ม.ค. 2567