(18 ม.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระโขนง ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนริมทางรถไฟสายเก่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ปรับปรุงความสูงของรั้ว โดยมีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ด้านล่างเป็นรั้วทึบด้านบนเป็นรั้วโปร่งแบบตาข่าย ปรับปรุงบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนเศษทรายตกค้าง ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปรับปรุงบ่อคายกากและบ่อตกตะกอน โดยมีความลึกไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร ไม่ปล่อยให้มีตะกอนปูนเศษหินเศษทรายล้นเต็มบ่อพัก ตรวจสอบควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 28 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง 5 แห่ง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยสุขุมวิท 95 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 86 ราย ได้แก่ 1.บริเวณซอยสุขุมวิท 95 ตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 95 ถึงซอยสุขุมวิท 95 แยก 2 ผู้ค้า 58 ราย ช่วงเวลาทำการค้า ช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 05.00-11.00 น. และช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 15.00-20.30 น. 2.บริเวณซอยสุขุมวิท 101 ตั้งแต่ซอยปุณณวิถี 15 ถึงซอยปุณณวิถี 21 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-12.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้า พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน ส่วนผู้ค้าที่เช่าพื้นที่หน้าอาคารบริเวณปากซอยสุขุมวิท 95 ถึงปากซอยสุขุมวิท 95/1 ให้ขยับแผงค้าเข้าไปภายในอาคาร เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่แคบ มีทางเดินขึ้น-ลงสะพานลอยคนข้ามถนน โดยผู้ค้าให้ความร่วมมือไม่ตั้งวางสิ่งของยื่นล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบในพื้นที่ ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าในการสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณซอยวชิรธรรมสาธิต 35 และพื้นที่ว่างข้างโรงเรียนพูนสิน (เพชรสุขอุปถัมภ์) ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าโรงเรียนพูนสิน (เพชรสุขอุปถัมภ์) ซอยสุขุมวิท 64 พื้นที่ 756 ตารางวา 2.สวนหย่อมปากซอยสุขุมวิท 62 (สวนผู้การ) พื้นที่ 631 ตารางวา 3.สวนหย่อมภายในซอยสุขุมวิท 56 ลัดออกซอยสุขุมวิท 62 ใกล้กับสะพานข้ามลำรางสาธารณะ (คลองเจ็ก) พื้นที่ 114 ตารางวา 4.ที่ว่างซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค พื้นที่ 18.40 ตารางวา 5.ที่ว่างซอยวชิรธรรมสาธิต 27 ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว พื้นที่ 30.65 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนคลองบางนางจีน พื้นที่ 30 ตารางวา 2.สวนหมู่บ้านรุ่งเจริญ 1 พื้นที่ 84 ตารางวา 3.สวนเพลินพระโขนง พื้นที่ 271.93 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบสวน 4.ที่ว่างซอยวชิรธรรมสาธิต 35 พื้นที่ 14 ไร่ 36 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ ขุดบ่อน้ำภายในสวน ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่สาธารณะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนพูนสิน (เพชรสุขอุปถัมภ์) พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 31.97 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 316 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักใบไม้ น้ำหมักชีวภาพ มีเกษตรกรมารับเพื่อนำไปเลี้ยงปลา 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะเก็บรวบรวมเพื่อนำไปขาย 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปให้รถเก็บขยะ ส่วนขยะกำพร้า (ขยะเชื้อเพลิง) เข้าร่วมโครงการ N15 กับทางบริษัทบางจาก 4.ขยะอันตราย เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3,100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,800 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 250 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน
ในการนี้มี นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระโขนง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)