
(18 ม.ค.67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถา หัวข้อ “ชีวิตสูงวัยในสังคมความไวสูง” ในโครงการ LIFETIME PROGRAM หลักสูตรพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สว.มธ.) รุ่นที่ 11 ณ โรงแรม รอยัลซิตี้ (The Royal City Hotel) ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงจำนวนผู้สูงอายุในกทม. ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ดังนั้นแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ คือ การช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยจัดบริการ สวัสดิการ และการส่งเสริมสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุในกทม. เช่น ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขที่ถือว่าอยู่ใกล้ประชาชนในระดับปฐมภูมิให้ดีขึ้น การออกหน่วยตรวจสุขภาพบ่อยขึ้นโดยในปี 67 ตั้งเป้าตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน นำการบริการสาธารณสุขเข้าไปให้บริการในห้างสรรพสินค้า มี HealthTech คลินิกบริการสุขภาพ ดิจิทัล ที่สามารถตรวจสุขภาพ พบหมอได้ผ่านระบบออนไลน์ รับยาใกล้บ้านที่ร้านขายยา เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า การดูแลผู้สูงอายุในกทม. นั้นมีหลายมิติมาก ทั้งการดูแลสุขภาพโดยตรงเป็นมิติของการใช้ชีวิต มิติของการอยู่ในชุมชน มิติของการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งโดยภาพรวมนโยบายการดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่กทม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในส่วนด้านการฝึกทักษะอาชีพ เรามีโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครอยู่ 10 แห่ง โดยมีโปรแกรมให้ผู้สูงอายุเลือกฝึกอาชีพ เช่น นวดแพทย์แผนไทย ทำอาหาร ทำขนม ตัดเย็บเสื้อผ้า Care giver และชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งมีประมาณ 400 กว่าชมรม มีกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมสุขภาพ หัตถการ คหกรรม เป็นต้น มีศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง ศูนย์ประสานงานธนาคารสมองที่ถ่ายทอดทักษะภูมิปัญญาผู้สูงอายุกทม. ให้คนรุ่นหลัง เหล่านี้คือการทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รู้สึกชรา ได้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีสังคมไม่ติดบ้าน อีกทั้งยังสามารถทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนา คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ “โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเนื่องจาก ในปัจจุบันประเทศไทยมีการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและสัดส่วนต่อประชากร จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายให้ผู้สูงอายุ มีสุขภาพแข็งแรงตามวัย เพราะวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมอันเป็นผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ คือการช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข มีความพึงพอใจ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและการมีคุณค่าในตนเอง ผู้สูงอายุจึงควรให้ความสนใจดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ รวมทั้งฟื้นฟูสุขภาพเมื่อมีภาวะของโรคและควบคุมให้ภาวะของโรคเหล่านั้นมีอาการคงที่ ไม่กำเริบรุนแรงหรือเสื่อมถอยมากกว่าเดิม จะทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคม และมีความสุขในปั้นปลายของชีวิต ทั้งนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมจำนวน 76 คน โดยจัดอบรมระหว่าง วันที่ 18 ม.ค – 19 มี.ค.67
———–