‘เศรษฐา’ยกหูคุย’ฮุน มาเนต’ร่วมแก้ฝุ่น ตั้งคณะ ทำงาน 2 ปท. บีทีเอสเปิดเช่าซื้อ จยย.ไฟฟ้าลดฝุ่น ให้วิน กทม.ผ่อน’ปิ่นโต’ ‘ชัชชาติ’หนุนเอกชน ตั้งจุดชาร์จ
นายกฯยกหูคุยฮุนมาเนตแก้ฝุ่น
เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่วัดพระธาตุดอยคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อคืนวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ได้โทรศัพท์ตอน 4 ทุ่มกว่า พูดคุยกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และตั้งคณะทำงานกันขึ้นมาร่วมกัน และฮอตไลน์คุยกันได้ตลอด บ่ายนี้น่าจะมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการขึ้น เป็นการตั้งคณะทำงานร่วม 2 ประเทศ เพราะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองก็ตระหนักในปัญหานี้ ซึ่งปัญหาของไทยก็ขึ้นกับทิศทางลมด้วย ถ้าเราเผาอาจไปทางเขา เขาเผาอาจมาทางเรา อันนี้ต้องเป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ดีใจที่ผู้นำของกัมพูชาได้ให้ความสำคัญและพูดคุยกัน โดยสำนักงานเลขาฯได้มีการติดต่อกันแล้ว จะเป็นการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอาจจะใช้จิสด้าของไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการวัดค่าฮอตสปอตทั้งหลาย และจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง จะได้ชี้เบาะแสได้ว่าตรงไหนมีการเผาเยอะ หากเราไม่ประชุมกันผมเองก็อาจจะไม่ทราบ ที่มีการรายงานเข้ามาซึ่งพื้นที่ตรงนี้ถือว่าสำคัญ ไม่ใช่แค่จะมาส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจอย่างเดียว สิทธิพื้นฐานของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เรื่องอากาศสะอาดและพระราชบัญญัติอากาศสะอาดได้เข้าสภาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่จบเข้าใจว่ามีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่อาทิตย์หน้าก็น่าจะจบได้
เมื่อถามว่า มีโอกาสจะลงพื้นที่ร่วมกันกับทางกัมพูชาหรือไม่เพื่อดูปัญหา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แน่นอน และหากจำได้ครั้งที่ตนเดินทางไปจังหวัดสระแก้วมีการดำริจะประชุมวงเล็กที่นั่น ต้องดูก่อนเพราะสมเด็จฮุน มาเนต จะมาไทยวันที่ 7 กุมภาพันธ์ จะมีการพูดคุยกันเรื่องนี้และนัดกันในการประชุมครั้งต่อไปจะมีการลงพื้นที่จริงๆ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพราะเป็นจุดศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างสองประเทศ และถือโอกาสพูดคุยกันในหลายเรื่อง ถือว่าดีเพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการพูดคุยกันได้อย่างดี
จัดแคมเปญรถคันนี้ลดฝุ่น
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาฝุ่น โดย กทม.ได้มอบจุลินทรีย์พิเศษให้กับเกษตรกรและเชิญชวนประชาชนคนกรุงร่วมแคมเปญ รถคันนี้ลดฝุ่น เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง ลดฝุ่น PM2.5 ได้ร่วมกับ 15 บริษัทค่ายรถยนต์และผู้ค้าน้ำมัน จัดแคมเปญ รถคันนี้ลดฝุ่น ชวนคนกรุงเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง นอกจากร่วมกันช่วยลด PM2.5 ยังผลดีต่อรถยนต์ของผู้ที่เข้าร่วมแคมเปญ โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น มีรถเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนไส้กรองแล้ว 41,488 คัน ช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้ 2% ซึ่งมีการตั้งเป้าเปลี่ยนไส้กรอง รถจำนวน 300,000 คัน เพื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากภาคการจราจรได้ 15%
“นายกฯห่วงใยประชาชนต่อสถานการณ์ PM2.5 โดยได้กำหนดแนวทางการทำงานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการลดผลกระทบ แก้ไขปัญหา เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการในทุกช่องทางเพื่อแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงที่ค่าคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพขอให้ประชาชนระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง” นายชัยกล่าว
เปิดเช่าซื้อจยย.ไฟฟ้าลดฝุ่น
ที่ลานจอดแล้วจร สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าปิ่นโต (Pinto) บริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรุ๊ป นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และตัวแทนจากบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด เข้าร่วมพิธี
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรพัฒนาขนส่งระบบรองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส จึงเกิดเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าปิ่นโตให้กับกลุ่มวินรถจักรยานยนต์กว่า 200 แห่ง ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าน้ำมัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าปิ่นโตสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% และลดการสร้างฝุ่น PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บีทีเอสให้วินผ่อน’ปิ่นโต’
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด จัดแคมเปญพิเศษ ลดค่าบริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าปิ่นโตจาก 4,500 บาทต่อเดือน เหลือ 4,000 บาท ราคาดังกล่าว รวมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฟรีค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม 1 ปี (เงื่อนไขตามที่บริษัทกำหนด) วินจักรยานยนต์ที่สนใจสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2567
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบีทีเอส กรุ๊ป และวินโนหนี้ สตาร์ตอัพภายในกลุ่มบริษัทบางจาก ร่วมเริ่มต้น ธุรกิจให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าปิ่นโตกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างตามแนว รถไฟฟ้าบีทีเอส วินโนหนี้ให้บริการแพลตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีเป้าเพิ่มผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 ราย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่ง ในปี 2573
‘ชัชชาติ’หนุนเอกชนตั้งจุดชาร์จ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีรถจักรยานยนต์รับจ้าง 9 หมื่นคัน หากเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าจะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้กับทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นไปตามนโยบายของ กทม.สนับสนุนระบบขนส่งมวลชนใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้ กทม.ยังสนับสนุนให้ภาคเอกชนติดตั้งสถานีชาร์จ และเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ในพื้นที่ที่ กทม.ดูแลรับผิดชอบ และจะร่วมกันผลักดันให้มีสถานีชาร์จเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย
สมุทรสงครามวางแผนแก้ฝุ่น
ที่ จ.สมุทรสงคราม นายศิริศักดิ์ ศิริมังคลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนภายในห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลาง เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม รายงานข้อมูลผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น Air4Thai โดยค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ในปี 2566 มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ระหว่าง 3.2-130 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ug/m3) จำนวนวันที่มีค่าเกินมาตรฐานเท่ากับ 47 วัน
นายศิริศักดิ์กล่าวว่า ได้กำหนดแผนเผชิญเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จ.สมุทรสงคราม ปี 2566-2567 ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เพื่อควบคุมมลพิษในช่วงวิกฤต/ระยะเร่งด่วน เช่น จัดตั้งศูนย์/คณะทำงานติดตามสถานการณ์ และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง การสร้างความตระหนัก 2.การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) ได้แก่ การเผาในพื้นที่โล่ง (การเผาวัสดุการเกษตร) การคมนาคมและขนส่ง (ยานพาหนะ) ภาคอุตสาหกรรม (โรงงานอุตสาหกรรม) การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน เป็นต้น และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเครื่องมือ การศึกษาวิจัย/ การพัฒนาองค์ความรู้ โดยมอบหมายหน้าที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เช่น เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาพถ่ายดาวเทียม แอพพลิเคชั่นต่างๆ
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 2567