คนกรุงวิตก…ขีด’ผังเมืองใหม่’ ดีกว่าเดิมไหม-ใครได้ประโยชน์

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นกระแส ที่ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง สำหรับร่าง ผัง เมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่ง กทม.โดย สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) ได้ดำเนินการ จัดทำตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ดำเนินการวางผังเมืองรวมครั้งแรกในปี 2542 และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการปรับผังเมืองใหม่ทุก 5 ปี

ปัจจุบันเป็นการใช้ผังเมืองรวมฯ ปี 2556 สวพ. ดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในปี 2560-2562 เพื่อจัดทำผังเมืองรวมฯให้สอดคล้องสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนา เมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาในปี 2562 ได้มีพ.ร.บ.การผังเมือง ใหม่ กำหนดให้ผังเมืองรวมมีรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 4 แผนผังเป็น 6 แผนผัง ประกอบด้วย

1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท 2.แผน ผังแสดงที่โล่ง 3.แผนผังแสดงโครงการ การคมนาคมและการขนส่ง 4.แผน ผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ 5.แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 6.แผนผังแสดงผังน้ำ ดังนั้น จำเป็นต้องจัดทำร่างผังเมืองรวมฯให้มีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จึงยังไม่ได้ประกาศใช้

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการแสดงความคิดเห็น เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปรับผังเมืองครั้งนี้ ในบางจุดเป็นผังเดิมที่ ถูกปรับปรุงไว้ตั้งแต่เดิมจนถึงปี 2556 ไม่มีการปรับปรุงใหม่ ขณะที่บางพื้นที่เป็นการ ปรับเพิ่ม เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเต็มศักยภาพ และเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ผังสีเดิมที่มีการทำไว้ตั้งแต่ผังเมืองรวมฯแรกอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะอาจเป็นการลิดรอนสิทธิผู้ที่อยู่เดิม

แต่อย่างไรก็ตาม หากประชาชนเห็น ควรปรับเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต ก็ยังสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ตามช่องทางที่เปิดรับ โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองจะนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปรวบรวม สรุป และส่งต่อไปตามขั้นตอนจนถึงคณะกรรมการผังเมืองรวมจังหวัด ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน

ส่วนการขีดเส้นเขตทางในโครงการ การคมนาคมและการขนส่งนั้น เป็นการขีดเส้นเสมือนความกว้างของถนน ไม่ได้มีการเวนคืนทุกเส้นทาง นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเส้นทางเดิม แต่ก็มีบาง เส้นทางที่ถูกเพิ่มขึ้นมา อย่างเช่น ประเภท ถนนสาย ก. ขนาดเขตทาง 12 เมตร ก็จะกลายเป็นตัวกำหนดว่า หากอาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่จะต้องมีระยะถอยร่นไปตามขนาดเขตทาง 12 เมตร ไม่ใช่ยึดตามสภาพถนนจริงที่กว้าง 6 เมตร ส่วนความสูงของอาคารก็จะมีความสูงได้ไม่เกินสภาพความกว้างของถนน อีกทั้งหากบ้านเรือนประชาชนไม่ได้มีการสร้างใหม่ก็ยึดตามแนวถนนเดิม ไม่มีการเวนคืนที่ดินอย่างแน่นอน

ส่วนการเพิ่มข้อกำหนด การเพิ่มอัตรา ส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) ร่างผังเมืองรวมฯ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) นายวิศณุ เผยว่า การเปลี่ยนสีผังเมือง รัฐไม่ได้ประโยชน์แต่เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์ ซึ่ง กทม.จะเพิ่มข้อกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้างอาคาร บังคับให้ปันส่วนพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์สาธารณะ ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในร่างผังเมืองฯ แต่จะมาปรับแก้ในช่วงการรับฟังความคิดเห็น

“ที่ผ่านมาการสร้างบ่อหน่วงน้ำจะได้ FAR Bonus เพิ่ม 20% แต่ร่างผังเมืองรวมใหม่จะไม่ให้ FAR Bonus แล้ว แต่จะเป็นภาคบังคับที่อาคารสูงสร้างใหม่ต้องทำ เพื่อประโยชน์สาธารณะ”

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า หรือการปันส่วนที่ดินให้กับสาธารณะ เช่น บันไดสะพานลอย ที่ตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า จุดจอดวินมอเตอร์ไซค์ บันไดสะพานลอย ขยายพื้นที่ทางเท้า ต้อง อยู่ในที่ดินของเอกชน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทางเท้าแคบ ทั้งนี้ การปันส่วนที่ดินให้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เอกชนยังคงถือกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นได้

ด้าน นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สวพ. ให้ความเห็นถึงการจัดทำผังเมือง เนื่องจาก ล้าหลังมากว่า 10 ปี กายภาพของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยน จำเป็นต้องดูหลายมิติ รวมถึงความเหลื่อมล้ำในพื้นที่รอบนอก ซึ่งร่างผังเมืองรวมฯฉบับปรับปรุงนี้มีการเพิ่มพื้นที่ให้กับคนผู้มีรายได้น้อยได้มี บ้านพักอาศัย จึงมีการเพิ่มพื้นที่ให้มีการจัดสรรที่ดินแปลงขนาดเล็กจาก 5,000 ไร่ เป็น 130,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่จะกระจายไปทั่ว กทม.

ดังนั้น ผู้มีรายได้น้อยจะไม่ต้องเดินทางไกลมาทำงานในพื้นที่ชั้นใน ไม่เสียเวลาและภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ลดลง โดยจะรวบรวมพื้นที่เหล่านี้แก้เงื่อนไขและเพิ่มประโยชน์การใช้ที่ดินมากขึ้น หลังจากประกาศใช้ผังเมืองรวมฯแล้วพื้นที่เหล่านี้จะเกิดเป็นพื้นที่ของบ้านพักอาศัยขนาดเล็ก

ส่วนเรื่องของน้ำ ผังน้ำที่ประกาศในครั้งนี้ มีการลดพื้นที่ของ floodway หรือเส้นทางระบายน้ำท่วม หลังจากที่ศึกษาระบบของน้ำ พื้นที่ floodway ทั้งหมดของฝั่งตะวันออก เดิมมี 90,000 ไร่ จากการศึกษาแล้วจึงลดขนาดพื้นที่ floodway ที่มีปัญหากับคนในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เหลือประมาณ 30,000 ไร่

จากเดิมเป็นพื้นที่ผังสีเขียวลาย (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตร กรรม) ก็จะกลายเป็นพื้นที่ผังสีเขียว (ที่ ดินประเภทชนบทและเกษตร กรรม) และจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผังสีเขียวได้มากขึ้น ส่วนพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่เป็นผังเขียวลายทั้งหมดที่มีปัญหาก็ยกเลิกทั้ง 120,000 ไร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนระดับล่างมากขึ้น

ส่วนจุดเชื่อมต่อการเดินทางของพื้นที่ในขนส่งสาธารณะ จะมีรถฟีดเดอร์เข้ามาเพิ่มเติม เรื่องถนนโครงข่ายคมนาคมไม่ได้เน้นทำถนนสายใหม่ แต่เป็นถนนสายเดิมที่มีการปรับปรุงเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดรูปที่ดินก็จะทำในส่วนแนวเวนคืนเดิมที่ประกาศไปก่อนหน้านี้

ส่วนถนน 148 เส้นทางที่ประกาศนั้นมี 97 สาย เป็นถนนเดิม หรือกว่า 380 กม. ซึ่งเป็นการขยายถนนโดยไม่ได้เวนคืน แต่ที่ต้องประกาศก็เพื่อให้ผู้ที่จะก่อสร้างในอนาคตคำนึงถึง “ระยะร่น” ของอาคารจากถนนตามข้อกฎหมายที่ต้องมีความกว้างระยะ 12 เมตร ส่วนที่อยู่เดิมไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบ.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 ม.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200