นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) เปิดเผยถึง การแก้ปัญหาการเผาตอซังและฟางของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 ว่า ปัจจุบันสำนักพัฒนาสังคมได้รับงบประมาณจัดซื้อเครื่องอัดฟางข้าว เป็นเงิน 3.6 ล้านบาท เพื่อไปให้เกษตรกรยืมมาอัดฟางข้าวในไร่ของตนเอง ผ่านการขอยืม
ทั้งนี้ เมื่อรัฐสามารถสนับสนุนเกษตรกรให้มีเครื่องมือกำจัดฟางข้าวในรูปแบบอื่นได้ก็จะลดการเผาในพื้นที่ และส่งเสริมประโยชน์จากการไม่เผาชีวมวล ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีแผนจัดทำสถานที่เก็บฟางที่ถูกอัดก้อนไว้ ก่อนจำหน่าย อาทิ ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารสัตว์ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ผู้ผลิตวัสดุกันกระแทกสำหรับขนส่งสินค้าและอาหาร ผู้ผลิตพลังงานทางเลือก เป็นต้น โดยผู้สนใจสามารถไปซื้อฟางอัดก้อนโดยตรงกับเกษตรกร ในช่วงที่ราคาดีก็ขายได้ทันที หรือหากราคาตกก็เก็บไว้ในสถานที่เก็บรอจำหน่ายได้
นายพรพรหม ระบุด้วยว่า อยู่ระหว่างการทดลองอีกวิธีคือการใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตร ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว หรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เพื่อเป็นแนวทางเพิ่มเติม ซึ่งการผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์และน้ำ ฉีดพ่นทั่วบริเวณแปลงนาที่มีตอซังและฟางข้าว จากนั้นใช้รถขลุบย่ำให้ตอซังข้าวล้มลงราบกับพื้น และสังเกตการณ์สภาพแปลงนาในระยะเวลา 7 วัน
“หากตอซังและฟางข้าวย่อยสลาย เกษตรกรสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมดินปลูกได้ตามปกติ”
สำหรับข้อมูลด้านการเกษตรของ กทม. โดยกลุ่มงานส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม ใน กทม.มีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 117,344.008 ไร่ จำนวนเกษตรกร 16,420 ครัวเรือน (เกษตรกร 1 ราย ทำมากกว่า 1 อย่าง) แบ่งเป็น ด้านพืช ด้านปศุสัตว์และด้านประมง ดังนี้
ด้านพืช มี 95,195.92 ไร่ จำนวน 9,793 ครัวเรือน เฉพาะทำนา 80,988 ไร่ จำนวน 3,295 ครัวเรือน กระจายอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก คลองสามวา ลาด กระบัง มีนบุรี สายไหม ทวีวัฒนา สะพานสูง หนองแขม ประเวศ บางเขนและบางขุนเทียน.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)