ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายนพนันท์ ตาปนานนท์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง แถลงความคืบหน้า เรื่องผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) นายวิศณุกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการตั้งโต๊ะแถลงข่าวในวันนี้ เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวหลายสำนักตั้งคำถาม มายัง กทม. ถึงเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่ากทม. เอื้อนายทุนจริงหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการแถลงข่าวตอบทุกคำถามในวันนี้
สำหรับผังเมืองรวมของ กทม. ฉบับปัจจุบันที่ใช้กันอยู่คือของปี 2556 ซึ่งใช้มานานร่วม 10 ปีแล้ว และตามหลักของการพัฒนาเมือง จะต้องมีการทบทวนวางผังเมืองใหม่ ทุกๆ 5 ปี ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยมาเป็น 10 ปีแล้ว และเมื่อปี 2562 มี พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ออกมา กำหนดให้มีการทำผังน้ำและผังทรัพยากรสำรองเพิ่ม
เติม โดยมติของคณะกรรมการจัดทำร่างผังเมือง กำหนดให้ กทม.เป็นผู้จัดทำ โดยผังใหม่นี้จะปรับให้ใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะ ได้เต็มที่ และอัพเดตให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น เน้นให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรองรับการอยู่อาศัยของประชากรเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่นพื้นที่ชานเมือง
กรณีมีผู้ตั้งคำถามว่า กทม.จัดทำร่างผังเมืองเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่นั้น กทม.ยืนยันว่าไม่มีการจัดทำร่างผังเมืองเพื่อเอื้อนายทุนตามที่มีการตั้งข้อสงสัย เนื่องจากแต่เดิมมีแนวคิดปรับผังที่ดินเพื่อให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จริง แต่ปัจจุบันในการปรับผังใหม่ ระบุว่า เจ้าของที่ดินผู้ได้ประโยชน์จากการปรับผังที่ดินต้องปันประโยชน์ให้แก่สาธารณะด้วย เช่น ให้พื้นที่สีเขียวที่ประชาชนเข้าถึงได้ หรืออนุญาตให้จัดตั้งระบบสาธารณูปโภค ทางเท้า เสาสะพานทางเดินลอยฟ้าในที่ดินของตนเอง เป็นต้น ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากการปรับผังแล้ว ยืนยันว่ากทม.ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน
นายวิศณุกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เดิม กทม. จะเปิดรับความคิดเห็นถึงวันที่ 22 ม.ค. จึงได้ขยายเวลาออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนก.พ.นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประมวลผลความคิดเห็นของประชาชน ที่ได้เสนอมา พร้อมปรับแก้ไขร่าง ก่อนจะผ่านคณะกรรมการ อีกหลายขั้นตอน ส่วน เรื่องผังสีต่างๆ ประชาชนตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2567