ที่ศาลาว่าการ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงกรณีข้อสงสัยการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับ ปรุงครั้งที่ 4) ว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนหรือไม่ โดยยืนยันไม่มีการเอื้อประโยชน์ แต่หากมีผู้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับผังสีก็ต้องแบ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น จัดให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จัดให้มีพื้นที่โล่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือสวนสาธารณะริมถนน จัดให้มีสถานดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น
นายวิศณุ ระบุ ด้วยผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นจำนวนมาก ล่าสุดจึงขยายเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นแสดงความเห็นให้มีผลถึงสิทธิในการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 จากเดิมถึงวันที่ 22 ม.ค. ไปเป็นจนถึงวันที่ 29 ก.พ.นี้
ด้านรศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ จากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีคำถามเกี่ยวกับที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (ผังสีแดงในฝั่งตะวันออก) ที่มีเพียงจุดเดียวนั้น ชี้ว่าวิธีคิดเชิงโครงสร้างพื้นที่พาณิชยกรรมของเมืองมีการศึกษาตั้งแต่ก่อนที่กทม.จะวางผังเมืองรวมครั้งแรก ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้วางไว้เมื่อปี 35 และในปี 42 กทม.เป็นผู้วางผังเอง ขณะนั้นเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและพูดถึงโครงสร้างเมืองมหานครที่จะปรับจากเมืองศูนย์กลางเดียว เป็นมหานครหลายศูนย์กลาง เพื่อให้คนจากชานเมืองไม่ต้องเข้ามาที่ส่วนกลางอย่างเดียว
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังได้ให้คำแนะนำ ถึงความสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยและแรงงาน ทำให้มีการคิดวางระบบการกระจายตัวของพื้นที่พาณิชยกรรม สำหรับรูปแบบของการ กระจายของเมือง แบ่งออกเป็น ศูนย์กลางเมือง ศูนย์กลางรอง พาณิชยกรรมเมือง ซับเซ็นเตอร์ ชานเมือง และพาณิชยกรรมชุมชนเป็นระดับเล็ก.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)