ห่วงคนกรุงมีภาวะเสี่ยงป่วยเบาหวาน-ความดัน
กทม. – เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ถึงการให้บริการประชาชน Bangkok Health Market และคาราวานตรวจสุขภาพประชาชน 1 ล้านคน ว่า กทม.มีนโยบายในการเร่งตรวจสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมาย 1 ล้านคน ภายใน 1 ปี หรือ ประมาณเดือนก.ย.67 แต่เนื่องจากสำนักอนามัย (สนอ.) สำนักการแพทย์ (สนพ.) ได้รับความร่วมมือจากภาคีต่างๆ อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จึงได้เร่งเป้าหมายให้ครบ 1 ล้านคน ภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ทีมผู้บริหารทำงานครบ 2 ปีพอดี
สำหรับการตรวจสุขภาพนี้ เป็นการตรวจสุขภาพโดยหน่วยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กทม.ทั้งหมดหลายส่วนร่วมกัน ซึ่งได้คิกออฟไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 ประกอบด้วย การตรวจสุขภาพตามสิทธิ์ ซึ่งเป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐาน และบวกอีก 3 เรื่องที่เราเช็กให้ ได้แก่ การตรวจตา การตรวจปอด การตรวจหัวใจ EKG ฟรี โดยวัตถุประสงค์แรก อยากรณรงค์ให้ประชาชนรู้ภาวะสุขภาพ และสอง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้ทราบว่าโครงการรณรงค์เรื่องสุขภาพหรือโครงการป้องกันสุขภาพเรื่องไหนที่กทม.จะลองทำกับชุมชนและพื้นที่
จากการลงพื้นที่เมื่อ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีคนมาตรวจสุขภาพประมาณ 1,200 คน โดยพบว่าภาวะเสี่ยงที่มีมาก คือ เบาหวาน ความดัน ซึ่งเป็นโรคเงียบที่หากไม่ตรวจสุขภาพจะไม่รู้เลยว่าเราจะทำตัวอย่างไรหรือระมัดระวังอย่างไร นอกจากนี้ยังทำให้กทม.ทราบว่าควรจะขยายศักยภาพทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในแบบไหน เพื่อให้ตอบสนองข้อมูลของประชาชนเต็มที่
ในส่วนของการตรวจนับจากวันนี้ไปจะมีหลายๆ ลักษณะ ได้แก่ การออกหน่วยใหญ่ในชุมชน (ตรวจทุกอย่าง) ทุกวันศุกร์ การออกหน่วยรถแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ซึ่งรอกำหนดวันและพื้นที่ให้ชัดเจน หากประชาชนมาที่หน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาล ก็จะจัดให้มีการสำรองไว้สำหรับการวอล์กอินตรวจสุขภาพด้วย รวมถึงการออกหน่วยตามพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นจุดศูนย์รวม (เช่นเดียวกับการจัด Bangkok Health Market ที่ลานคนเมือง) ในพื้นที่ 7 โซนสุขภาพ ตลอดจนการเปิดพื้นที่ตามศูนย์การค้าต่างๆ ที่ให้ความอนุเคราะห์ด้านสถานที่ด้วย
สำหรับประชาชนที่รับการตรวจสุขภาพ หากให้ความยินยอม กทม.จะบันทึกข้อมูลตรวจสุขภาพนั้นในรูปแบบ Digital Health Book บนแอพพลิเคชั่น หมอกทม. ซึ่งข้อมูลจะครอบคลุมทั้ง 12 โรงพยาบาลในสังกัดกทม. เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชน ส่วนกรณีที่ตรวจสุขภาพ ณ หน่วยตรวจ แล้วพบข้อสงสัยที่มากกว่าปกติ เช่น มีรอยในปอด หัวใจเต้นผิดปกติ จะทำการ Refer นัดหมายโรงพยาบาลให้เพื่อตรวจอย่างละเอียดยิ่งขึ้น
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2567