ศศวัชร์ คมนียวนิช
ผ่านไปอีกปีสำหรับการทำงานของผู้ว่าฯที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ท่ามกลางมุมมอง 2 ฝั่ง บ้างก็เห็นชัดว่ากรุงเทพฯ เปลี่ยนไปหลายสิ่ง บ้างก็
www.facebook.com/ScoopMati ยังค้างคาใจ ว่าเหตุใด อะไรๆ ก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ?
ก้าวแรกของปี 2567 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมนั่งลงทบทวนถึงผลงานในปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป และบอกกล่าวถึงโครงการที่เตรียมทำงานเพื่อคนกรุงในปี 2567
ไม่เริ่มที่ ‘คน’ ก็แก้ (ยั่งยืน) ไม่ได้!จ้างธุรการ ‘ช่วยครู’ เนรมิตห้องคอมฯ ผุดหลักสูตรดิจิทัล
ชัชชาติ เผยว่า สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดเลย 2 เรื่อง คือ การศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม.ที่ผ่านมาละเลยไปเยอะ
“เห็นเลยว่า คะแนนสอบ PISA ของเด็กไทยคะแนนลดลง ปัญหาทั้งหมดทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ ถ้าเราไม่เริ่มที่คนไม่มีทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำและเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ
เรามีการพัฒนาการศึกษา เปลี่ยนไปเยอะ การช่วยครูลดภาระ โดยว่า
[email protected] จ้างตำแหน่งนักธุรการมาช่วยครูในโรงเรียน 371 คน การปรับปรุงเรื่องการขอวิทยฐานะของครู มีการทำห้องคอมพิวเตอร์เพิ่มเสร็จแล้ว 598 ห้อง
ถ้าเราไปดูในโรงเรียนทุกคนชอบมาก ที่ได้มีห้องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพใหม่ แล้วเด็กก็จะมีการใช้งานอย่างมาก มีการปรับปรุงเรื่องอาหารในโรงเรียน ที่ต่างประเทศทุกที่ ถ้าจะพัฒนาคนก็ต้องมีอาหารที่ดีก่อน
นอกจากนี้ มีการทำหลักสูตรที่เป็นดิจิทัลในห้องเรียน ที่เริ่มทำไปแล้ว 1 โรงเรียน ก็ได้ผลดี ก็จะเป็น Prototype และจะขยายผลทำเป็น Digital Classroom กทม. ยังมีโครงการ Saturday School ที่มีอาสาสมัครไปช่วยครู ช่วยสอนเด็กในวันเสาร์ และให้อิสระแก่เด็กในการแต่งกายชุดไปรเวต 1 วัน ไว้ทรงผมอิสระ รวมถึงการแจกผ้าอนามัยให้กับนักเรียนหญิง 18,000 คนในโรงเรียนมัธยม” ผู้ว่าฯ กทม.เล่า
เพิ่มโรงพยาบาล-ไพร์ดคลินิกเปิด ‘ศูนย์สาธารณสุขพลัส’
อีกประเด็นสำคัญ คือ สาธารณสุข ซึ่งชัชชาติเผยว่า ในภาพใหญ่จะเพิ่มโรงพยาบาล โดยมีการวางศิลาฤกษ์ไปแล้ว 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เขตภาษีเจริญ และจะมีเพิ่มอีก 3 แห่ง ที่เขตสายไหม ดอนเมือง และทุ่งครุ ซึ่งต้องใช้เวลานานคาดว่า 3-4 ปี รวมถึงมีการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็น ศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 6 แห่ง ในปี ’67 อีก 6 แห่ง มีศูนย์สาธารณสุขพลัส ให้มีเตียงพักคอยดูแลอาการได้ ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 6 แห่ง ในปี ’67 อีก 7 แห่ง
“นอกจากนี้ เรายังเพิ่มศูนย์สุขภาพจิตและศูนย์กายภาพบำบัดให้มากขึ้น เพิ่มไพร์ดคลินิกเป็น 28 แห่ง มอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 4,000 กว่าราย ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีน HPV) 90,000 กว่าคน รวมถึงการเพิ่มศูนย์บริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาเรื่องสาธารณสุขจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้” ชัชชาติย้ำ
งานรีโนเวตต้องมา! ขยายถนน ซ่อมสะพาน บูรณะฟุตปาธ 170 กม. ซ่อมไฟ 3 หมื่นดวง
สำหรับแผนงานในปี 2567 ในหน่วยงานของ กทม.ที่ชวนให้ส่องสปอตไลต์ยังมีอีกมากมาย
เริ่มที่ สำนักการโยธา จ่อปรับปรุงทางเท้า ปี’66 ปรับปรุง 150 กม. ซ่อมใหม่ทั้งเส้น 87 กม. ปี’67 ปรับปรุง 170 กม. ซ่อมใหม่ทั้งเส้น 32 กม.
โครงการพัฒนา Skywalk ราชวิถี, ปรับปรุงทางเท้ารอบสถานีรถไฟฟ้า 1 กิโลเมตร, พัฒนา covered walkway ซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่าง ปี’66 ดำเนินการแล้ว 28,568 ดวง
ปี’67 ตั้งเป้าดำเนินการอีก 30,000 ดวง จัดระเบียบสายสื่อสาร ที่ผ่านมาถึงปี’66 ดำเนินการแล้ว 62 กม.
ปี’67 ดำเนินการอีก 93 กม. (แผนของ กฟน.) กทม. ดำเนินการวางท่อสายสื่อสาร 8.3 กม. เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้ Operator นำสายสื่อสารลงดิน
เพิ่มความปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐาน ปี’67 ติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว 6 โรงพยาบาล และสะพานเหล็กข้ามแยก ปรับปรุงสภาพถนนให้พร้อมใช้งาน โดยเริ่มจ้างสำรวจสภาพถนนตามวงรอบทุก 2 ปี
ควบคุมน้ำหนักบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ติดตั้ง BWIM (Bridge weight in motion) 5 สะพาน ศึกษาการขึ้นทะเบียนทางหลวงเพิ่มเติมทั้งหมด งานปรับปรุงถนน สะพาน ที่สำคัญ ประกอบด้วย ขยายถนนเทพรักษ์ ขยายถนนกรุงเทพกรีฑา สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ซ่อมสะพานยกระดับถนนพระราม 9 ปรับปรุงซอยลาซาล ปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำในซอยพัฒนาการ 20/ซอยอ่อนนุช 17 บูรณะถนนตามข้อมูล PMS (Planned maintenance system) ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ได้แก่ ปรับปรุงสำนักงานเขตธนบุรี สร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงหนองจอก
จ่อยกระดับ ‘ทางม้าลาย’ 1,000 แห่งแก้ 102 จุดเสี่ยง ขยายผล ITMS บรรเทารถติด
สำหรับ สำนักจราจรและขนส่ง มีการปรับปรุงทางข้ามให้มีความปลอดภัย ปี’66 ดำเนินการแล้ว 2,978 แห่ง
ปี’67 จะดำเนินการอีก 1,000 แห่ง ปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ปี’66 ดำเนินการแล้ว 115 จุด ปี’67 จะดำเนินการอีก 102 จุด
พัฒนาคุณภาพการให้บริการของรถเมล์ จะมีการก่อสร้างศาลาพักคอย ผู้โดยสารใหม่ พัฒนารถ BRT ให้ใช้ไฟฟ้า
แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ขยายผลการใช้งาน ITMS พัฒนา O&M command room ศูนย์บริการจัดการจราจร ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร สัญญาณไฟทางข้างเพิ่ม ปรับปรุงระบบวินมอเตอร์ไซค์ โดยพัฒนาจุดจอดวินมอเตอร์ไซค์ พร้อมระบบการประเมินคุณภาพการบริการ สนับสนุนการใช้รถยนต์ EV โดยการพัฒนาเครือข่าย Charging station
อัพเกรดคุณภาพ ‘หาบเร่แผงลอย’ เพิ่มกล้อง เอไอให้ครบร้อย จับปรับมอเตอร์ไซค์วิ่งทางเท้า
ตามมาด้วย สำนักการระบายน้ำ ที่ผ่านมามีการปรับปรุงไฟฟ้าริมคลอง ปี’66 ซ่อมแซมแล้ว 2,656 ดวง ปี’67 จะซ่อมแซมอีก 717 ดวง แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม ปี’66 แก้ไขแล้ว 179 จุด และอยู่ระหว่างการแก้ไข 93 จุด ปี’67 จะดำเนินการแก้ไขอีก 70 จุด
ขณะที่ สำนักเทศกิจ ได้จัดหาพื้นที่ทำศูนย์อาหาร หรือ Hawker center ให้กับผู้ค้าหาบเร่ ปี’66 ดำเนินการแล้ว 39 จุด ปี’67 จะดำเนินการอีก 28 จุด พร้อมกับยุบเลิก/ยุบรวมพื้นที่หาบเร่อีก 109 จุด พัฒนาคุณภาพหาบเร่แผงลอยและพื้นที่การค้าสาธารณะ
โดยในปี’67 พัฒนาแผนการทำ Big Cleaning ในจุดผ่อนผัน 95 จุดทุกสัปดาห์ พร้อมกับติดต่อบ่อดักไขมัน และจุดซักล้างรวมอีก 33 จุด การกวดขัดวินัยจราจร จับปรับมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ปี’66 ทำ MOU ร่วมกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เพื่อส่งเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายให้ดำเนินการทางวินัยภายในบริษัท ตั้งจับกุมผู้กระทำผิด (เทศกิจตั้งจุดตรวจ) 5,439 ราย ตรวจพบผู้กระทำผิด (กล้อง AI) 52,964 ราย จากกล้อง AI 5 จุด
ในปี’67 จะเพิ่มจุดตรวจกล้อง AI ให้ครบ 100 จุด จัดระเบียบป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ตรวจพบป้ายผิดกฎหมาย 19,001 ป้าย ปรับปรุงจุดเสี่ยงอาชญากรรม ปี’66 สำรวจจุดเสี่ยงอาชญากรรมนำลงแผนที่ 309 จุด โดยปี’67 แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงอาชญากรรม 243 จุด
ปี’66 ประหยัดงบเฉียด 1,500 ล้านปี’67 ยกระดับประสิทธิภาพใช้จ่ายต่อเนื่อง
มาต่อกันที่ สำนักการคลัง สำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งเสริมให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม. ในปี’66 กทม. มีการจัดซื้อจัดจ้างจาก SME 1,589 ราย ปี’67 จะเพิ่มอีกอย่างน้อย 300 ราย สนับสนุนศูนย์การเศรษฐกิจ โดยปี’67 จะพัฒนาศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือ Expat รวบรวมข้อมูล เช่น ข้อมูลการรักษาพยาบาล ข้อมูลภาษี กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดหาที่อยู่อาศัย
เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ในปี’67 เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจอดรถเป็น 84 สายทาง เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของ กทม. โดยปี’66 ประหยัดงบประมาณรายจ่ายไปได้มากกว่า 1,494 ล้านบาท
เข้มทุกทาง PM2.5! ตั้งเป้าแยกขยะเศษอาหาร 6,000 ตันต่อเดือน เพิ่มถังดับเพลิงเกือบ 3 หมื่น
มาถึง สำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งเสริมการแยกขยะ โดยปี’66 แยกขยะเศษอาหารได้ประมาณ 1,650 ตันต่อเดือน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ zero waste 9,318 ราย ปริมาณขยะลดลง 200 ตันต่อวัน ปี’67 ตั้งเป้าแยกขยะเศษอาหารให้ได้ 6,000 ตันต่อเดือน ขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้าร่วม โครงการ zero waste 16,087 ราย ปริมาณขยะลดลง 800 ตันต่อวัน ติดตั้งกรงทิ้งขยะเพิ่มความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ปี’66 ติดตั้งกรงทิ้งขยะ 162 จุด ปี’67 ติดตั้งกรงเพิ่มอีกอย่างน้อย 150 จุด เพิ่มขีดความสามารถในการเก็บขยะในซอยย่อย โดยปี’67 ทดลองใช้รถขยะไซซ์เล็ก 50 คัน
ตรวจสอบมลพิษ PM2.5 จากต้นตอ โดยปี’66 ตรวจฝุ่นในสถานประกอบการ มากกว่า 18,000 ครั้ง (โรงงาน แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ท่าทราย) ตรวจควันดำจากรถ มากกว่า 276,000 คัน
ลดการปล่อยมลพิษ PM2.5 ปี’67 ตั้งเป้านำรถไฟฟ้าเข้ามาใช้ใน กทม. แบ่งเป็น รถเก็บขยะ 892 คัน รถบรรทุกน้ำ 1,058 คัน เพิ่มเครือข่าย sensor PM2.5 ปี 66 มีเครือข่าย sensor 739 จุด ปี’67 ขยายเครือข่าย sensor ให้ได้ 822 จุด ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ปี’66 ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียนอนุบาล 2,034 เครื่อง BMA net zero ปี’67 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10,000 tCOe โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 750,000+ ต้น สวน 15 นาที ปี’66 เปิดสวนเพิ่มเติม 59 แห่ง คิดเป็นพื้นที่มากกว่า 74 ไร่ ปี’67 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 158 สวน Dog park ปี’66 มีสวนที่สามารถนำสัตว์ไปได้ 6 สวน มีสัตว์ที่เป็นสมาชิกมากกว่า 9,600 ตัว ปี’67 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 2 สวนรวมเป็น 8 สวน พัฒนารุกขกร ปี’66 จัดอบรมหลักสูตรรุกขกรและผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ 210 คน ปี’67 ตั้งเป้ามีรุกขกร 10 คนและมีผู้ผ่านการอบรมอีก 420 คน
แม้ว่าจะมีผลงานมากมาย แต่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับว่า ยังมีความกังวลถึงปัญหาที่แก้ได้ยาก
“เรื่องฝุ่น PM2.5 รถติด และเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุม ที่มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง อย่างเรื่องฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯเยอะ แต่อีกหลายจังหวัดก็เยอะเช่นกัน ซึ่งไม่ได้มาจากรถยนต์อย่างเดียว มีปัจจัยอย่างอื่นด้วย เช่น การเผาชีวมวล อากาศปิด เบื้องต้นก็มีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการออกส่วนลดการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และไส้กรองรถยนต์ เพื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5” สำหรับ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล มีการเพิ่มถังดับเพลิงแบบหิ้ว ปี’66 จัดซื้อถังจำนวน 9,979 ถัง โดยปี’67 จะจัดซื้อถังเพิ่มอีก 27,611 ถัง ซ้อมเผชิญเหตุร่วมกับชุมชน ปี’66 ดำเนินการซ้อมแผนเผชิญเหตุชุมชน 288 แห่ง ปี’67 ดำเนินการซ้อมแผนเผชิญเหตุชุมชน อีก 340 แห่ง Open Bangkok ปี’66 เปิดเผยข้อมูลมากกว่า 1,000 ชุดข้อมูล มีผู้เข้าใช้ข้อมูลมากกว่า 3 ล้านครั้ง BMA OSS ปี’66 มีจำนวน Case ใน OSS ทั้งหมด 16,540 คำขอ โดยเป็นการยื่นออนไลน์ 184 คำขอ ที่เหลือเป็นการดำเนินการผ่าน BFC ณ สำนักงานเขต ปี’67 ตั้งเป้าให้สามารถติดตามความคืบหน้าของคำขออนุญาตได้ผ่านทางทราฟฟี่ฟองดูว์
กุมภา ’67 เลือกตั้ง ‘สภาเด็กฯ’ ทั่วกรุงปูพรมปรับปรุงป้ายท่องเที่ยว
จากนั้น ไปดู สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งมีการปรับปรุงกายภาพ (ห้องสมุด บ้านหนังสือ ลานกีฬา ศูนย์นันทนาการ ศูนย์กีฬา สนามเด็กเล่น) ปี’66 ดำเนินการปรับปรุงลานกีฬาแล้ว 41 ลาน ปี’67 เป้าหมายปรับปรุงลานกีฬา 162 ลาน ปรับปรุงอาคารลุมพินีสถาน ปรับปรุงหอสมุดเมืองให้เป็น Book Landmark Colorful Bangkok และ Winter Festival ปี’66 ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มีผู้จัดองค์กร/หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมโครงการกว่า 200 กิจกรรม ตลอด 3 เดือน โดยกิจกรรมครอบคลุมการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ครบทั้ง 15 อุตสาหกรรม
ย่านสร้างสรรค์ ปี’66 สนับสนุนย่านสร้างสรรค์ มากกว่า 21 ย่าน เช่น คลองผดุงกรุงเกษม ทาสีโบ๊เบ๊ และบางลำพู ปี’67 ปูพรมปรับปรุงป้ายท่องเที่ยว 200 ป้าย ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวระดับย่าน โครงการ Bangkok street performer ปี’66 มีศิลปินเข้าร่วมโครงการกว่า 400 คน/กลุ่ม โดยประสานงานกับหน่วยงานเครือข่ายให้เปิดจุดให้ศิลปินในโครงการ มากกว่า 30 จุด อำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพยนตร์ โดยการเปิดให้บริการ BFMCC ช่วยเหลือประสานงานในการขอถ่ายภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ปี’66 สภาเมืองคนรุ่นใหม่ มีสมาชิกเกือบ 1,000 คน และ pitching โครงการที่เป็น solution ให้กับเมืองจำนวน 10 ทีม ปี’67 จัดการเลือกตั้งสภาเด็กเขตใหม่ทั้งหมด พร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ ในเดือน ก.พ.67
ตั้งเป้าจ้างงาน ‘คนพิการ’ ให้ถึง 660 ส่งเสริมเศรษฐกิจออนไลน์ สร้างเครือข่ายส่งต่ออาหาร
ปิดท้ายที่ สำนักพัฒนาสังคม ได้ให้ความช่วยเหลือคนพิการ โดยปี’66 กทม.จ้างงาน ข้าราชการ/ลูกจ้าง/อาสาสมัคร รวม 390 คน ปี’67 ตั้งเป้าจ้างงานให้ถึง 660 คน รวมถึงเตรียมพัฒนามาตรฐาน Bangkok for all ควบคุมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ พัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ปี’66 พัฒนาหลักสูตร แม่บ้านโรงแรมร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย Care giver ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี ตัดขนสุนัข ร่วมกับ รพ.สัตว์ทองหล่อ ขับสามล้อไฟฟ้าร่วมกับ muvmi ขยายเครือข่าย อสท. ให้ช่วยเหลือคนในชุมชน โดยในปี’66 มี อสท. ในชุมชนมากกว่า 500 คน ทำงานเก็บข้อมูลชุมชน ช่วยเหลือคนในชุมชนให้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างเครือข่ายการส่งต่ออาหาร Bangkok food bank ปี’66 ร่วมกับ SOS และ vv share นำร่อง 10 เขต rescue food surplus ไปแล้วมากกว่า 33,500 กก. ส่งต่อให้กับกลุ่มคนเปราะบางได้มากกว่า 140,000 มื้อ และทดลองตั้ง food bank center ที่สำนักงานเขตห้วยขวาง
นี่คือส่วนหนึ่งของการ ทำงาน ทำงาน ทำงาน ในปี’66 และแผนการ ทำงาน ทำงาน ทำงาน ในปี’67 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกรุง อย่างไม่หยุดยั้งของ#ทีมชัชชาติ แต่จะบรรลุผลตามเป้าหรือไม่ ขอเชิญคนไทยร่วมจับตา
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 2 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)