กทม.แจงจัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตามขั้นตอนทางกฎหมาย
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท พร้อมกันทั้ง 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.67 อาจผิดกฎหมายว่า ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานครตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ปี พ.ศ.2558 และปี พ.ศ.2559 ที่ให้ กทม.จัดให้มีการเดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายที่ 2 และให้รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยได้จัดทำบันทึกการจำหน่ายทรัพย์สินระหว่าง รฟม.และ กทม.ในปี พ.ศ.2561 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจที่จะจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีการออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารเป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนของ กทม. พ.ศ.2552 และเป็นไปตามความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่ กทม.ได้มีหนังสือสอบถามแล้วว่า การออกประกาศเรียกเก็บค่าโดยสารเป็นอำนาจของ กทม.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการ กทม.พ.ศ.2528 ประกอบกับข้อบัญญัติฯ ข้างต้น ซึ่งการเก็บค่าโดยสารตามที่ประกาศนั้น เป็นคนละส่วนกับการจ่ายค่าจ้างเดินรถ และไม่ถือว่าเป็นการยอมรับภาระหนี้ค่าจ้างที่เกิดขึ้น เนื่องจากภาระรายจ่ายค่าจ้าง กทม.ต่อสู้ถึงความไม่ถูกต้องในระเบียบขั้นตอนกฎหมาย หากไม่เก็บจะเป็นการเสียโอกาสในการจัดการรายได้ที่ไม่สามารถย้อนเก็บได้
นอกจากนี้ กทม.ได้เคยเสนอต่อสภา กทม.เพื่อขอรับความเห็นเกี่ยวกับแนวทางค่าโดยสารในที่ประชุมสภา กทม.เมื่อวันที่ 26 ต.ค.65 และสภา กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาในภาพรวมของโครงการฯ โดย สจส.ได้รายงานถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย (ช่วงส่วนต่อขยาย) ซึ่งมีความเหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไปต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการวิสามัญฯ รวบรวมรายงานต่อสภา กทม.
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.ได้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.62 โดยได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการตามคำสั่งฯ ดังกล่าวและได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติจากคณะรัฐมนตรี กทม.จึงได้เสนอแนวทางขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับหนี้ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเดินรถต่อคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยได้ขอให้ กทม.พิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี พ.ศ.2572 เห็นว่า ต้องดำเนินการหาผู้ร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งต้องมีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อ กทม.และประชาชนต่อไป
กทม.ปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตพัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ 5ป 1ข คือ ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง ปล่อยปลาลงในอ่าง เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยขัดล้างภาชนะใส่น้ำก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ พร้อมทั้ง “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้าน ไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง ทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือและจัดทำแผนดำเนินกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม (Big cleaning) ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย ภายในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ ได้แก่ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง
นอกจากนั้น สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สนอ.ยังได้แจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกให้หน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.สัปดาห์ละครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาด รวมทั้งจัดอบรมพัฒนาความรู้และซักซ้อมแผนการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที อีกทั้งรณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักถึงวิธีป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ตลอดจนประชาสัมพันธ์วิธีสังเกตอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ให้เพิ่มความระมัดระวังตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไวรัสซิกา ซึ่งสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
กทม.ตั้งแบร์ริเออร์เพิ่ม-กวดขันห้ามรถ จยย.จอดใต้สะพานข้ามแยกพระราม 9
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและแก้ไขเหตุเดือดร้อนจากการจอดรถจักรยานยนต์ใต้สะพานข้ามแยกพระราม 9 ว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเดิมเป็นจุดกลับรถที่ยกเลิกการใช้งานแล้ว ซึ่ง สนย.ได้วางแบร์ริเออร์คอนกรีต เพื่อปิดกั้นจุดกลับรถ แต่มักมีผู้ฝ่าฝืนนำรถจักรยานยนต์เข้ามาจอด อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น สนย.จะนำแบร์ริเออร์คอนกรีตมาตั้งปิดกั้นเพิ่มเติม และจะประสานขอความร่วมมือสำนักงานเขตห้วยขวาง เพื่อกวดขันไม่ให้มีผู้นำรถจักรยานยนต์มาจอด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้รถสัญจรบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ สนย.ยังได้รับงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงสะพานข้ามแยกพระราม 9 – แยก อ.ส.ม.ท. – แยกผังเมือง พื้นที่เขตห้วยขวาง ซึ่งมีงานปรับปรุงทางเท้าใต้สะพานบริเวณเกาะกลางตลอดแนวสะพานข้ามแยก ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคาด้วยวิธี e-bidding คาดว่า จะได้ผู้รับจ้างประมาณเดือน มี.ค.67