Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 3 มกราคม 2567

กทม.ปรับปรุงทางเท้าถนนเพลินจิตตามหลัก Universal Design

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและวิจารณ์ทางเท้าบริเวณเพลินจิต ถนนสุขุมวิท ถูกตัดและทำเป็นช่องเว้าไม่สะดวกในการใช้งานว่า การปรับปรุงทางเท้าถนนเพลินจิต ช่วงจากแยกราชประสงค์ถึงทางรถไฟสายท่าเรือ เขตปทุมวัน เป็นการดำเนินการตามรูปแบบมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) หลักการออกแบบอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ทุกคนได้มีสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งการปรับปรุงทางเท้าดังกล่าว ได้ขยายความกว้างของทางเท้า เพื่อให้สามารถเดินสัญจรได้ต่อเนื่อง โดยมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร รวมถึงได้ติดตั้งกระเบื้องทางเท้า Blind Block (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตาได้สัญจรอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย

ส่วนการปรับปรุงระดับทางเข้าออกของอาคารเอกชน ทางลาด และบริเวณทางข้ามถนน จะต้องใช้ระยะเวลาปรับปรุง 180 วัน ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงในพื้นที่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.67 สำหรับบริเวณจุดเว้าช่องจอดรถตามภาพถ่ายเป็นช่องเว้าตามสภาพเดิม ซึ่งมีความจำเป็นต้องคงไว้เช่นเดิม เพื่อให้สามารถจอดรถชั่วคราว รถฉุกเฉิน รถเสีย รถส่งของ และรถรับส่งคน ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรชะลอตัวบนถนนเพลินจิต อย่างไรก็ตาม สนย.ได้รื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางเท้าบริเวณดังกล่าวออก เพื่อให้พื้นที่ทางเท้ามีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งาน

 

 

 

กทม.เฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ในศูนย์พัฒนาเด็กฯ-โรงเรียนในสังกัด
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ว่า สถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 69,955 ราย เป็นผู้ป่วยใหม่ในเดือน พ.ย.66 จำนวน 10,645 ราย คิดเป็นอัตราป่วยสะสม 1,273.08 ราย/ประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิตสะสม 2 ราย คิดเป็นอัตราตายสะสม 0.036 ราย/ประชากรแสนคน อัตราป่วยตายร้อยละ 0.003 อัตราส่วนผู้ป่วยชายต่อหญิง คือ 1 : 0.91 อัตราป่วยจำแนกตามกลุ่มอายุสูงสุดคือ 5-9 ปี รองลงมา ได้แก่ 10-14 ปี และ 0-4 ปี ตามลำดับ ร้อยละของผู้ป่วยจำแนกตามกลุ่มอายุสูงสุดคือ 5-9 ปี ร้อยละ 18.85 รองลงมาได้แก่ 10-14 ปี ร้อยละ 16.53 และ 25-29 ปี ร้อยละ 7.92 ตามลำดับ โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย.66 จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง พบว่า สูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง คิดเป็น 4.41 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน 
 
      กทม.ได้เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.และโรงเรียนในสังกัด กทม.ในทุกระดับชั้นในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งแบบแผ่นพับและสื่อออนไลน์ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและผู้ปกครองป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเน้นแนวทางการคัดกรองนักเรียนที่มีอาการป่วยและแยกเด็กที่ป่วย หรือมีอาการเข้าข่ายโรคไข้หวัดใหญ่ให้โรงเรียนได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติ และควรแยกนักเรียนไปในที่ ๆ จัดเตรียมไว้และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพบแพทย์และพักรักษาตัวที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเด็กนักเรียนและการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อจากฝอยละอองจากการไอ หรือจามรดกัน หรืออาจติดต่อจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย วิธีการป้องกัน ได้แก่ ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอ จาม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อป่วยควรหยุดเรียนหยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด และเมื่อมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดให้รีบสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากพบว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรีบรับประทานยา พักผ่อนมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำสะอาด ประมาณ 5-7 วัน หรือจนอาการดีขึ้น 

 

 

กทม.รุกป้องกันควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ แนะปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป.
 
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนพ.ได้ตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการ และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ด้วยการตรวจค้นพบโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางและมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายใน รพ.และชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้กับผู้ที่มารับบริการใน รพ.และชุมชนรอบ รพ.สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักด้านสุขภาพ ตลอดจนวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมถึงการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.หากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2-7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป โดยการป้องกันที่ประชาชนสามารถทำได้คือ การเก็บขยะ ทำความสะอาดบ้าน และดูแลภาชนะที่ใส่น้ำไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สามารถใส่ทราย หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่

      นอกจากนั้น สนพ.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยให้ทุก รพ.ในสังกัด สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ. รวมทั้งได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัดในเรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ รพ. แนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ (1) ปิดฝาภาชนะให้สนิท (2) ปล่อยปลากินลูกน้ำ (3) เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ (4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (5) ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ขณะเดียวกันได้สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง และการสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้ อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน“หมอ กทม.” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 

กทม.เร่งแก้ปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณะรอบเกาะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
 
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.เร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณะ 4 เกาะรอบเกาะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอย่างไม่ถูกต้อง อาทิ การเปิดให้ลอยกระทงที่สวนสันติภาพ ทำให้ปลาตาย และปัญหามีผู้มาอาศัยหลับนอนใต้โดมหลังคาของเกาะพญาไทว่า สสล.มีแนวทางการใช้พื้นที่สวนสาธารณะของ กทม.ในการจัดงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ โดยกรณีการลอยกระทงในสระน้ำของสวนสาธารณะ สสล.ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ผู้มาร่วมลอยกระทงในสวนสาธารณะใช้กระทงวัสดุธรรมชาติเท่านั้น งดใช้โฟม และขอความร่วมมือให้ลอย 1 ครอบครัว 1 กระทง แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมา พบว่า กระทงที่ประชาชนนำมาลอยในสวนสันติภาพร้อยละ 99 เป็นกระทงที่ทำจากขนมปัง ซึ่งผู้ลอยมีความเข้าใจว่า จะได้เป็นอาหารปลา ไม่ก่อผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ จากกรณีดังกล่าว สสล.ได้วางแผนการประชาสัมพันธ์การเปิดสวนสาธารณะให้ลอยกระทงในปี 2567 เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและทราบล่วงหน้าว่า กระทงที่ทำด้วยวัสดุใดบ้างที่จะทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย นอกจากกระทงโฟมที่ย่อยสลายยาก เพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา


นายกรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี กทม.กล่าวว่า ปัญหาผู้มาอาศัยหลับนอนในตอนกลางคืนบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไม่ต่ำกว่า 10 ราย สำนักงานเขตฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา กวดขันไม่ให้มีผู้มาอาศัยหลับนอนในตอนกลางคืนเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม จะได้เพิ่มความถี่การตรวจตรากวดขันบริเวณดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนต่อไป

 

 

 

กทม.แจงการปฏิบัติงาน-การซักชุดป้องกันไฟตามระเบียบกระทรวงการคลัง พร้อมเดินหน้าสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงฯ

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการดำเนินงานของ สปภ.อาทิ การจ้างให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรแทนและการจ้างซักเสื้อชุดป้องกันไฟว่า สปภ.ได้มอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยกรณีการจ้างให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรแทน เบื้องต้นยังไม่พบว่า มีการจ้างผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรแทนแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งได้จัดแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยออกเป็น 4 ชุด ทำงานวันละ 2 ชุด ๆ ละ 12 ชั่วโมง สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างชุดเตรียมความพร้อมระงับเหตุกับชุดสนับสนุน เพื่อให้มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอในการออกระงับเหตุเพลิงไหม้และเหตุสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและได้รับการบริการที่ดีจาก กทม.

กรณีการซักเสื้อชุดป้องกันไฟ (ความร้อน) การจัดหาผู้รับจ้างซักชุดปฏิบัติการดับเพลิงในอาคารของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยดำเนินการด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มีความโปร่งใสทุกขั้นตอน ซึ่งการซักชุดดับเพลิงในอาคาร (ทนไฟ) มีความจำเป็นอย่างมาก โดยมีกระบวนการซักที่แตกต่างจากเสื้อผ้าทั่วไป เนื่องจากเส้นใยของผ้ามีการเคลือบสารทนความร้อนไว้ รวมทั้งการซักอย่างถูกวิธีสามารถลดการปนเปื้อนของสารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยมีสุขอนามัยที่ดีและมีความพร้อมในการเข้าระงับเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย กทม.ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้มหานครสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคล กทม.เขตหนองจอก ปัจจุบันสำนักการโยธา กทม.ได้จัดทำผังบริเวณ ออกแบบ และประมาณราคาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ สปภ.ได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 – 2570 ไว้แล้ว

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200