จราจร67ลอยฟ้าทั้งรถทั้งคน2สะพาน-1ทางด่วน-1สกายวอล์ก

ฝ่ายข่าว กทม.-จราจร

เป็นธรรมเนียมที่ฝ่ายข่าว กทม.-จราจร ปฏิบัติต่อเนื่องมาทุกปีในวันปีใหม่ คือ จะรวบรวมโครงการขนส่งมวลชนและจราจร ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดใช้ มานำเสนอในวันขึ้นปีใหม่

ปีใหม่ 2567 ก็เช่นกัน มีโครงการแก้ปัญหาจราจรและขนส่งขนาดใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค มีกำหนดแล้วเสร็จหลายโครงการ…..”ฝ่ายข่าว กทม.-จราจร” จะพาไปติดตามกัน

สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9

เริ่มจากกรุงเทพฯ สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เผยว่า ประมาณเดือน มิ.ย.นี้ สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ จะเริ่มเปิดใช้ โดยสะพานเริ่มต้นจากเชิงทางลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ขนานไปกับสะพานพระราม 9 ข้ามแม่น้ำไปสิ้นสุดที่ทางต่างระดับบางโคล่ เชื่อมต่อระหว่างทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วน 1) กับทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) รูปแบบเป็นสะพานขึง ความยาวสะพานรวม 780 เมตร มี 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยเป็นช่องรถบรรทุก 1 ช่องต่อทิศทาง เริ่มก่อสร้างเมื่อ 16ม.ค.2563 แล้วเสร็จตามสัญญาเมื่อวันที่ 30 มี.ค.66 รวมเวลาทั้งสิ้น 39 เดือน โดย บมจ.ช.การช่าง

ออกแบบเทิดพระเกียรติ ร.10

สะพานขึงใหม่ พื้นสะพานถูกออกแบบเป็นโครงเหล็กและมีแผ่นพื้นคอนกรีตติดตั้งอยู่ด้านบนและปูทับด้วย asphaltic concrete เพื่อลดปัญหาพื้นจราจรหลุดล่อนที่เคยเกิดขึ้นกับสะพานพระราม 9 อีกทั้งออกแบบให้มีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 ที่ยกระดับจากพื้นดิน โดยออกแบบให้เริ่มยกระดับสูงจากพื้นดิน 10 เมตร ทำให้รถขึ้นลงได้สะดวกไม่ชะลอตัว จนจราจรติดขัด

ด้านการก่อสร้างใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยนำชิ้นส่วนคอนกรีตที่หล่อจากโรงงานแล้วมาติดตั้งหน้างาน ซึ่งแต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่มาก (10×42 เมตร) ไม่สามารถขนส่งทางบกได้ ต้องขนส่งมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรือบรรทุกขนาดใหญ่แทน เพื่อนำมาประกอบและติดตั้ง

ทั้งนี้ สะพานขึงใหม่มีการออกแบบเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อาทิ สีลวดสลิง สีเหลือง วันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพ, แนวกำแพงกันตก ประดับรูปดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 อีกทั้งมีการติดตั้งประดับไฟบนตัวสะพาน เพื่อเปิดเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญๆ ในยามค่ำคืน มีไฟสีต่างๆ 5 สี ได้แก่ สีเหลืองทอง สีขาว สีฟ้า สีชมพู และสีส้ม

จัดวิ่งลอยฟ้าแบบปี 2530

ผู้ว่าการ กทพ. บอกว่า ก่อนที่จะเปิดใช้สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 กทพ.จะจัดเดิน-วิ่ง ลอยฟ้าบนสะพาน โดยใช้ชื่อว่า “โครงการเดิน-วิ่งสามัคคี 111 ปี กระทรวงคมนาคม กับ กทพ.” พร้อมจัดงานแสดง แสง สี เสียง จุดเช็กอินให้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ อีกทั้ง เพื่อเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ครบรอบ 37 ปี การเปิดใช้สะพานพระราม 9 ปี 2530 มีการจัด “วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ” บนสะพาน มีทั้งคนไทยและต่างชาติร่วมวิ่งกว่า 80,000 คน อยากให้มีบรรยากาศแบบนี้อีกครั้ง โดยกำหนดจัดงานเดิน-วิ่งในเดือน มี.ค.2567

สะพานนี้จะช่วยลดปัญหาจราจรสะพานพระราม 9 เดิม โดยหลังเปิดใช้งานจะมีการปิดซ่อมสะพานพระราม 9 ครั้งใหญ่เพื่อยกเครื่อง หลังเปิดใช้งานมานานกว่า 35 ปี

สกายวอล์กแยกบางกะปิ

ด้านกรุงเทพมหานคร วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า โครงการของ กทม.ที่จะเสร็จ อาทิ โครงการสะพานข้ามแยกบางกะปิ ในส่วนทางเดินสกายวอล์ก ระยะทาง 1,400 เมตร เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง แยกบางกะปิ กับสายสีส้ม แยกลำสาลี จะแล้วเสร็จเดือน เม.ย. สำหรับทางเดินสกายวอล์ก จุดนี้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมออกแบบ มีการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการ 3 จุด หน้าสำนักงานเขตบางกะปิ 2 จุด อีกจุดแยกลำสาลี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้พิการ

งานนี้ชาวบ้านที่แยกบางกะปิ จะได้เดินเฉิดฉายบนสกายวอล์กแบบวัยรุ่นที่แยกราชประสงค์ แยกปทุมวัน แทนเดินฝ่าแผงลอยบนทางเท้า และห้อข้ามถนนแบบทุกวันนี้

เชื่อมประชาชื่น-แจ้งวัฒนะ

นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10) เพื่อรองรับการจราจรของโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยาย เป็นการเพิ่มเส้นทางเข้าออกด้านตะวันตกของศูนย์ราชการฯ สำหรับประชาชนที่จะเข้ามารับบริการอีกเส้นทางหนึ่ง จากปัจจุบันมีเส้นทางที่ใช้สัญจร 2 เส้นทางคือ ด้านเหนือออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะและด้านตะวันออกผ่านถนนหมายเลข 8 ออกสู่ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 1.3 กม. แล้วเสร็จเดือน พ.ค.67

โครงการเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน ช่วง 1 จากถนนวิภาวดีรังสิต ถึงคลองลาดพร้าว ขนาด 5-6 ช่องจราจร สะพานข้ามคลอง 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1,600 เมตร และช่วง 2 จากคลองลาดพร้าว ถึงถนนเทพรักษ์ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1,200 เมตร แล้วเสร็จเดือน ก.ย.

ทางลอยฟ้าพระราม 2 เสร็จ?!?

ส่วนกรมทางหลวงมี โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) เฟส 1 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ขนาด 6 ช่องจราจร บนเกาะกลางถนนพระราม 2 แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ตอน ระยะทางประมาณ 8.3 กม. ซึ่งแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายพระราม 3 บริเวณต่างระดับบางขุนเทียน กำหนด (อาจ) แล้วเสร็จปลายปี 2567 โดยเลื่อนกำหนดจากปี 2566 เพราะอุปสรรคการก่อสร้างติดสายไฟฟ้าแรงสูง และพื้นที่บางส่วนติดกรรมสิทธิ์ ต้องปรับแนวก่อสร้างบางช่วงทับซ้อนโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 รวมถึงผู้รับเหมาขอขยายเวลาจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้กำหนดการก่อสร้างล่าช้าไปจากแผน ก็ได้แต่หวังว่ากำหนดการก่อสร้างจะแล้วเสร็จจริงๆเสียที หลังจากเลื่อนกำหนดมานาน!!!!

วงแหวนโคราชครบลูป

สำหรับโครงการในส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงมีโครงการแล้วเสร็จ อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 290 หรือถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช ด้านใต้ 3 จากแยกทางหลวงหมายเลข 224 บรรจบทางหลวงหมายเลข 226 ตอน 3 ระยะทาง 2 กม. คืบหน้า 95% แล้วเสร็จเดือน ม.ค.2567 ส่วนตอน 2 ได้งบเพิ่มขยายจากขนาด 2 เป็น 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จปลายปีและด้านใต้ 4 จากทางหลวงหมายเลข 226 บรรจบทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตอน 1 ใกล้ถนนมิตรภาพ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูล แล้วเสร็จปลายปี และตอน 2 ก่อสร้างทางต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 226 แล้วเสร็จปลายปีเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 304 อยู่ในพื้นที่ อ.ปักธงชัย คืบหน้า 66.16% แล้วเสร็จเดือน ก.ย.67 อีกจุดบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 224 แล้วเสร็จปลายปี ทั้งนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นเส้นทางที่สามารถระบายการจราจรที่คับคั่งบริเวณตัวเมืองนครราชสีมา

วิ่งฉิวมอเตอร์เวย์โคราช

ส่วนโครงการก่อสร้าง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กม. และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กม. คาดว่างานโยธาจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 2568 อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เปิดใช้งานชั่วคราว M6 ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ-ถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ทล.204) ระยะทาง 80 กม. ทั้ง 2 ทิศทาง ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.2566 โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง เพื่อรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เปิดสะพานแม่น้ำนครชัยศรี

ขณะที่กรมทางหลวงชนบทมีโครงการก่อสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ตำบลงิ้วราย-ตำบลสัมปทวน จ.นครปฐม กำหนดแล้วเสร็จเปิดใช้ โดยสะพานแห่งนี้ที่มาที่ไป เพราะที่ผ่านมาประชาชนที่ต้องการเดินทางระหว่างตำบลงิ้วราย ไปยังตำบลสัมปทวน ต้องอ้อมไปเข้าตัวอำเภอนครชัยศรี ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อบต.งิ้วราย ได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนจากกรมทางหลวงชนบท ให้ก่อสร้างสะพานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ เพิ่มศักยภาพในการขนส่งพืชผลทางการเกษตร

รถขนส้มโอเซฟเวลา 2 ชม.

งานนี้ อาทิ ชมพู่ ส้มโอ ฝรั่ง ซึ่งเป็นผลไม้ชื่อดังของจังหวัด สามารถร่นระยะเวลาในการขนส่งได้ประมาณ 2 ชม. ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนให้มีความมั่นคงแข็งแรง ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ขนส่งสินค้า โดยจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณถนนขององค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์รถเก่า (เจษฎาเทคนิค มิวเซียม) สิ้นสุดโครงการที่ตำบลสัมปทวน บริเวณข้างวัดปิ่นจันทราราม (วัดกกตาล) ก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กระยะทาง 400 เมตร ผิวจราจรกว้าง 9 เมตร และก่อสร้างถนนต่อเชื่อมผิวทางลาดยางแอสฟัลต์คอนกรีตทั้งสองฝั่งของสะพาน รวมระยะทาง 710 เมตร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย งานเครื่องหมายจราจร วงเงิน 114.278 ล้านบาท คืบหน้า 85.04% แล้วเสร็จเดือน มิ.ย.2567

นั่นคือขนส่งมวลชนและโครงข่ายจราจรที่จะเกิดขึ้นใหม่ในปี 2567

 



ที่มา:  นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200