Search
Close this search box.
รถไฟฟ้า 4 สาย ส่อสะดุด รับปีใหม่ 2567

ปัจจุบันในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีรถไฟฟ้าเริ่มทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าวสำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่เพิ่งเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรียาวถึงหลังปีใหม่ 2567 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกสบายมากขึ้น

ในอนาคตภาครัฐยังเร่งดำเนินการผลักดันรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์มากขึ้น เช่น รถไฟฟ้าต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ช่วงตลิ่งชันศาลายา 2. ตลิ่งชัน-ศิริราช 3. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม), รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี และรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฯลฯ

หลังจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ไม่นานกลับมีรถไฟฟ้าบางเส้นทางยังติดปัญหาในหลายเรื่อง ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกทม.มีแนวคิดจะมอบโครงการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน เนื่องจาก กทม.เล็งเห็นว่าขณะนี้มีปัจจัยด้านอื่นที่ต้องเร่งนำงบประมาณไป ดำเนินการเพื่อประชาชน เช่น ด้านการศึกษา และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

นายชัชชาติ มองว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้า นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เชื่อว่าภาครัฐจะมีงบประมาณเร่งดำเนินการอยู่แล้ว การมอบให้ รฟม.กลับไปผลักดันต่อจึงถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะ รฟม.จะสามารถวางแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้เป็นระบบเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการใช้บริการต้องหลังจากนี้ต้องหารือในระดับนโยบายระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอแนวคิดไปยังนายกรัฐมนตรี ในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)

สำหรับรถไฟฟ้าของกทม.ที่ต้องการโอนให้รฟม.ดูแล จำนวน 4 สาย ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุน 27,884 ล้านบาท ที่ผ่านมาโครงการนี้กทม.เคยผลักดันโดยศึกษาข้อมูลด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงิน สิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการมาแล้ว

เมื่อย้อนดูผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา พบว่า รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผล กระทบสิ่งแวดล้อมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว ซึ่งโครงการจะประมูลโดยใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ทั้งนี้การก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล- ทองหล่อ ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง- พระราม 3 และระยะที่ 3 ช่วงส่วนต่อขยายพระราม 3-ท่าพระ จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิด ให้บริการ จำนวน 97,000 คน-เที่ยวต่อวัน

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า- ตลิ่งชัน โดยก่อนหน้านี้ กทม.ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางการลงทุน พบว่าโครงการจะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 35,000 คนเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงนัก จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการ

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการศึกษามีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ประเมินใช้วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท พบว่า ผลการศึกษารูปแบบการลงทุนจะจัดทำลักษณะ PPP Net Cost อายุ สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในปี 2572 ที่เปิดใช้บริการจะสูงถึง 82,695 คนเที่ยวต่อวัน

ปิดท้ายที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงสถานีประชาธิปก (G4) ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร (กม.) หรือ 900 เมตรวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.เคยมีแผนจะศึกษารายละเอียดและก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 1 สถานีคือ สถานีประชาธิปก (G4) แต่ปัจจุบันทางกลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของศูนย์การค้าไอคอนสยาม ยังไม่ได้สนับสนุนงบลงทุนดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 คาดว่าน่าจะติดปัญหาในเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงจากโควิด-19 ทำให้ไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อลงทุนโครงการฯ ระยะที่ 2

ล่าสุดกทม.มีแนวโน้มที่จะพิจารณาโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองให้รฟม.ดูแลเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องพิจารณารายละเอียดหลายเรื่อง เนื่องจากทาง กทม. ได้มอบหมายบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที เป็นคนบริหารดูแล คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาได้เร็วๆ นี้

หากกทม.มีแนวคิดดังที่จะโอนรถไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทางให้รฟม.ดูแล เป็นไปได้ว่ากทม.อาจกังวลต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและไม่ต้องการให้โครงการเหล่านี้ซ้ำรอยเดิมและไม่ต้องการผูกมัดตนเองเป็นผู้รับภาระเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ที่ปัจจุบันยังไม่ยอมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กว่า 50,000 ล้านบาท จนกลายเป็นหนี้ก้อนโตที่รอวันจะแลกสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปีให้กับเอกชนหรือไม่

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูหากโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 4 สายอยู่ในมือรฟม.แล้วจะสามารถผลักดันโครงการเหล่านี้ได้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องหรือไม่

 



ที่มา:  นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 31 ธ.ค. 2566 – 3 ม.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200