นภัสนันท์ กมลอนันต์กรณ์
รายงาน
สำหรับผู้ว่าฯ กทม. ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ทำงานในตำแหน่งนี้ล่วงเลยผ่านมา 1 ปีเต็มกับอีก 6 เดือนแล้ว โดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “นิด้าโพล” ได้เผยแพร่ผลการสำรวจ 1 ปี ในฐานะพ่อเมือง พบว่าเสียงสะท้อนประชาชนเริ่มหันมาตั้งคำถามกับผู้ว่าฯ ชัชชาติมากขึ้น เมื่อเทียบกับผลงาน 6 เดือนแรก พบว่า 1 ปีผ่านไปคะแนนนิยมเริ่มลดลง
สิ้นปีแล้วคงต้องย้อนกลับมาดูกันอีกครั้งว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สามารถเดินหน้านโยบายใดไปได้บ้าง เพื่อให้กรุงเทพฯ กลายเป็น เมืองน่าอยู่กว่าเดิม
โดยทีมผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายให้เข้าใจง่าย สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานจริง และตอบสนองความต้องการ ของประชาชนมากขึ้น เป็น 9 ด้าน 9 ดี ใหม่ ได้แก่ เดินทางดี ปลอดภัยดี โปร่งใสดี (ใหม่) สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เรียนดี เศรษฐกิจดี สังคมดี (ใหม่) และบริหารจัดการดี รวม 226 นโยบาย
จาก 226 นโยบายเริ่มดำเนินการไปแล้ว 211 นโยบาย ส่วน 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เป็นนโยบายที่ต้องมีการประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่น และมี 4 นโยบายยุติ การดำเนินการ เช่น นโยบายห้องให้นมเด็ก ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใช้บริการเนื่องจากประชาชนไม่นิยมมีบุตร นโยบายรถห้องสมุดเคลื่อนที่ลงไปถึงชุมชน เนื่องจากชุมชนมีพื้นที่ถนนเล็ก จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดออนไลน์ เป็นต้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยถึงถึงแนวทางการปฏิบัติงานในปี 67 ว่า ภาพรวมจะเน้นขับเคลื่อนระบบเส้นเลือดฝอยให้แล้วเสร็จ ตามที่ประกาศไว้ แต่จะเน้นงานด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาได้ละเลยเรื่องนี้ไปมาก เห็นชัดเลยว่าคะแนน PISA ของเด็กไทยลดลง เราพูดเสมอว่าเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อม หากไม่พัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ ก็ยากที่จะพัฒนาด้านอื่นให้ยั่งยืนได้ เพราะการศึกษาคือหัวใจการพัฒนาคนให้พ้นความเหลื่อมล้ำ ความยากจน สร้างคน ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในที่สุด เช่น การออกกฎหมายบังคับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจสามารถทำได้ แต่ไม่ได้ ผลเท่าการพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกเพื่อให้ความร่วมมือโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
ส่วนสาธารณสุข พยายามเน้นการเข้าถึง การรักษา โดยสะดวก ลดความแออัดของสถานพยาบาล โดยการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วย โดยการเปิดศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพ หรือศูนย์พยาบาล ปฐมภูมิขนาดเล็กกระจายตัวตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มอีก 6 แห่ง เพื่อให้การรักษาผ่านระบบออนไลน์ สามารถตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น เพื่อต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล สามารถส่งต่อผลตรวจไปยัง สถานพยาบาลได้ การตรวจสุขภาพช่วยป้องกัน และรักษาอาการป่วยได้ทันเวลา โดยไม่ต้องไป โรงพยาบาล
ด้านสาธารณสุข กทม.ไม่ได้เน้นเส้นเลือดฝอยเพียงอย่างเดียว ยังมีโครงการใหญ่ที่กำลังดำเนินการ คือ การก่อสร้างโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เขตภาษีเจริญ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 มีขนาด 40-60 เตียง รวมถึง อยู่ระหว่างจัดเตรียมงบประมาณ เพื่อก่อสร้าง โรงพยาบาล 3 แห่ง ในเขตดอนเมือง ทุ่งครุ และสายไหม จุดประสงค์เพื่อให้โรงพยาบาลมีความครอบคลุม กับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า จากปัญหาความหนาแน่นในสถานพยาบาล กทม.พยายามยกระดับศูนย์สาธารณสุขให้มีแพทย์ประจำตามเวลา และมีแผนขยายศูนย์สาธารณสุขเพิ่ม รวมถึงจัดเตียงพักคอยดูอาการผู้ป่วยในศูนย์สาธารณสุข ลดการส่งตัวไปโรงพยาบาล พร้อมเตรียมจ้างนักจิตวิทยา 1 คน ต่อศูนย์สาธารณสุข 1 แห่ง รวมถึงเตรียมเปิดบริการศูนย์สาธารณสุขเพิ่ม 2 แห่ง ที่เขตราษฎร์บูรณะ และภาษีเจริญ พร้อมก่อสร้างทดแทนศูนย์เดิม 13 แห่ง และ ปรับปรุงอีก 13 แห่ง ในปี 2567 อย่างไรก็ตามการศึกษาและสาธารณสุข จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจ กทม.จึงเน้นพัฒนาทั้งสองเรื่องนี้มากที่สุด
นอกจากนี้ในปี 67 กทม.กำลังพัฒนาระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ให้สมบูรณ์มากขึ้น เช่น รองรับภาษาอังกฤษสำหรับนักท่องเที่ยว แจ้งเรื่องร้องเรียน แจ้งเตือนภัยพิบัติ และภัยด้านต่างๆ ในสังคมเมือง รวมถึงประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งต่อเรื่องร้องเรียนที่เกินกว่าอำนาจของกทม. เนื่องจากระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ทำให้ กทม.ทำงานแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความไว้ใจจากประชาชนที่มีต่อภาครัฐ ทำให้เห็นว่าเมื่อแจ้งแล้วมีการแก้ไข ประชาชนจึงไว้ใจที่จะแจ้งปัญหา
ขณะเดียวกันงานด้านอื่นๆ ยังคงเดินหน้าควบคู่ขนานกันไป เช่น การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน การปรับปรุงทางเท้า ทางเดินเลียบคลองแสนแสบ การปรับปรุงทางจักรยาน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง การขีดสีตีเส้นจราจร ขณะที่โครงการเมกะโปรเจ็กต์ เช่น การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย การสร้างถนนยังต้องเดินหน้า ควบคู่ขนานกันไปเช่นกัน ตลอดจนจัดทำแผนการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาในแต่ละปี
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้กำหนด เป้าหมายขอบเขตงานที่ชัดเจน แต่ปัจจุบัน กทม.กำหนดเป้าหมายแล้ว เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น มีการกำหนดปริมาณความต้องการชัดเจน ใน 22 เป้าหมาย (อาจมีเพิ่ม) ประกอบด้วย 1.พัฒนาถนนสวย 2.ปลูกต้นไม้ 3.เพิ่มสวน 15 นาที 4.ปรับปรุง ทางเท้า 5.ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่าง 6.ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง 7.ยกเลิก/ยุบรวม พื้นที่หาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน 8.จัดหาพื้นที่เอกชน หรือพัฒนา Hawker Center รองรับ ผู้ค้าหาบเร่ 9.แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 10.แก้ปัญหาจุดจราจรฝืด 11.แก้ไข จุดเสี่ยง อุบัติเหตุ และ อาชญากรรม 12.ปรับปรุง/พัฒนาลานกีฬา
13.ปรับปรุง/พัฒนาบ้านหนังสือ 14.ปรับปรุง/พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 15.ปรับปรุง กายภาพโรงเรียน 16.จัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพครอบคลุม (% ของอาคารและหลังคาเรือนในเขตที่สามารถจัดเก็บขยะได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์) 17.พัฒนา ฐานข้อมูลออนไลน์ชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ข้อมูลอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ชุมชน) 18.ส่งเสริมการใช้งบประมาณ 200,000 บาทต่อชุมชน (มูลค่าเงินที่เบิกจ่าย) 19.ส่งเสริมการใช้ งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช. (มูลค่าเงิน ที่เบิกจ่าย) 20.พัฒนามาตรฐานการบริการประชาชน (% จำนวน คำขอที่เขตสามารถให้บริการได้ภายในกรอบเวลาตามคู่มือประชาชน) 21.ขุดลอกท่อ 22.ขุดลอก/เปิดทางน้ำไหลคลอง
สำหรับนโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว แบ่งเป็น 9 ด้าน 9 ดีใหม่ ประกอบด้วย 1.ปลอดภัยดี โดยแก้ไขจุดเสี่ยงภัยและอาชญากรรม ดังนี้ แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับตามถนน ตรอก ซอย 28,568 ดวง จากไฟ ที่ดับประมาณ 28,100 ดวง ปรับปรุงไฟฟ้า ริมคลอง 2,656 ดวง สำรวจจุดเสี่ยงอาชญากรรมนำลงแผนที่ 309 จุด เพิ่มข้อมูล ความปลอดภัยและความครอบคลุม ของถังดับเพลิงแบบหิ้ว โดยนำข้อมูล ถังดับเพลิง 34,000 ถัง เข้าสู่ระบบแผน ที่พร้อมทั้งจัดซื้อถังดับเพลิง 9,979 ถัง รวมทั้งซ้อมแผนเผชิญเหตุชุมชน 340 แห่ง จัดระเบียบสายสื่อสาร 62 ก.ม. ปรับปรุงทางข้ามให้มีความปลอดภัย 2,978 แห่ง ปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ 115 จุด
2.โปร่งใสดี (ใหม่) เริ่มด้วยการเปิดเผยข้อมูลมากกว่า 1 พันชุดและมีผู้เข้าใช้ข้อมูลมากกว่า 3 ล้านคน BMA OSS ให้บริการเกี่ยวกับใบอนุญาตของกทม. 16,540 คำขอ ยื่นออนไลน์ 184 คำขอ ที่เหลือดำเนินการผ่านศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) สำนักงานเขต พัฒนาระบบ ตรวจสอบอาหารเช้า/กลางวันของโรงเรียน ให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ ทั้ง 437 รร. https://bma.thaischoollunch.in.th/ bmaphoto/index.php การร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue มีผู้ร้องเรียน 464,000+ เรื่อง แก้ไขแล้ว 341,000+ เรื่อง
3.เศรษฐกิจดี โดยการจัดหาพื้นที่เอกชน ทำศูนย์อาหาร Hawker Center ให้กับ ผู้ค้าหาบเร่แล้ว 39 จุด ส่งเสริมให้ธุรกิจ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของกทม.แล้ว 1,589 ราย พัฒนาศูนย์กลางข้อมูลเศรษฐกิจ โดยเปิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมิติเศรษฐกิจของกทม. 431 ชุดข้อมูล มีผู้เข้ามา สืบค้น 1,286 ราย ร่วมกับคณะกรรมการ soft power แห่งชาติ มีผู้จัดองค์กร/ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมโครงการ กว่า 200 กิจกรรม ตลอด 3 เดือน โดยกิจกรรมครอบคลุมการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ครบทั้ง 15 อุตสาหกรรม สนับสนุนย่านสร้างสรรค์ 21++ ย่าน เช่น คลองผดุงกรุงเกษม ทาสีโบ๊เบ๊ และบางลำพู อำนวยความสะดวกในการขอถ่ายภาพยนตร์ พัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพ ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เช่น แม่บ้าน โรงแรม x สมาคมโรงแรม ผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่บ้าน (Caregiver)ที่ร.พ.รามาฯ ตัดขนสุนัข ขับสามล้อไฟฟ้า เป็นต้น
4.เดินทางดี เริ่มจากการปรับปรุงทางเท้า 150 ก.ม.และซ่อมใหม่ทั้งเส้น 87 ก.ม. เพื่อให้มีมาตรฐานทางเท้าใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้ทางเท้าแข็งแรงขึ้น มีการปรับลานทางเดินเลียบคลองแสนแสบ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ เป็น Universal Design รวมทั้งพัฒนาทางวิ่งดี Bangkok Trail (BKK Trail) 100 ก.ม. นอกจากนี้ยังได้จัดระเบียบป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย 19,001 ป้าย และแก้ จุดเสี่ยง น้ำท่วมแล้ว 179 จุด อยู่ระหว่างแก้ 93 จุด ขณะที่การกวดขันวินัยจราจร และจับปรับรถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า ได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เพื่อส่งเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายให้ดำเนินการทางวินัยภายในบริษัท พร้อมทั้งตั้งจุดจับกุมผู้กระทำผิด โดยเทศกิจ ตั้งจุดตรวจจับได้ 5,439 ราย กล้อง AI จำนวน 52,964
5.สิ่งแวดล้อมดี สนับสนุนการใช้รถยนต์ EV ส่งเสริมการแยกขยะ 1,650 ตันต่อเดือน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ zero waste 9,318 ราย ปริมาณขยะลดลง 200 ตันต่อวัน ติดตั้งกรงทิ้งขยะเพิ่มความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง 162 จุด ตรวจสอบมลพิษ PM2.5 จากต้นตอ ทั้งในสถานประกอบการ มากกว่า 18,000 ครั้ง (โรงงาน แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ท่าทราย) ตรวจควันดำจากรถ มากกว่า 276,000 คัน เพิ่มเครือข่าย sensor PM2.5 739 จุด ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ใน ร.ร. และ อนุบาล 2,034 เครื่อง ปลูกต้นไม้ 722,000 ต้น เปิดสวน 15 นาที 59 แห่ง คิดเป็นพื้นที่มากกว่า 74 ไร่ อบรมหลักสูตรรุกขกรและผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้
6.สุขภาพดี ขยายการบริการเพิ่มการ เข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน โดยเปิดศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพ (ศูนย์พยาบาลปฐมภูมิขนาดเล็กกระจายตัว ตามสถานที่ต่างๆ ให้
การรักษาผ่านระบบออนไลน์ สามารถตรวจคัดกรองโรคได้เบื้องต้น จำนวน 5 แห่ง ขยายจำนวนเตียง ร.พ. ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ให้บริการมอเตอร์ไซค์กู้ชีพฉุกเฉิน (motorlance) 39 คัน ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา ให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง โดยมีแพทย์ลงตรวจเป็นเวลา จากเดิมมีแค่พยาบาล ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขพลัส โดยมีบริการพักคอยดูอาการ ลดการส่งตัวไปยังร.พ. เปิดให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (Pride clinic) สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก HPV
7. สังคมดี (ใหม่) โดยเปิดให้บริการ Dog park 6 สวน มีสัตว์ที่เป็นสมาชิกมากกว่า 9,600 ตัว ปรับปรุงกายภาพ ห้องสมุด บ้านหนังสือ ลานกีฬา ศูนย์นันทนาการ ศูนย์กีฬา สนามเด็กเล่น โครงการ Bangkok street performer (ศิลปินเปิดหมวก) การจ้างงานคนพิการรวม 390 คน จัดตั้งเครือข่าย อาสาสมัครเทคโนโลยี เพื่อเก็บข้อมูลชุมชนและให้การช่วยเหลือคนในชุมชนในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ สร้างเครือข่ายการส่งต่ออาหาร Bangkok food bank
8.เรียนดี โดยพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ครบทั้ง 437 โรงเรียน เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเรียนดิจิทัลแล้ว 12 ห้องเรียนใน 6 โรงเรียน ลดภาระคุณครู คืนครูให้นักเรียน โดยการจ้างเหมาธุรการมาช่วยครูทำงานเอกสาร 371 คน ลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน แจกผ้าอนามัยให้นักเรียนหญิง ในโรงเรียนมัธยม ประกาศให้สิทธิเด็กแต่งกาย และไว้ทรงผมอิสระทั้ง 437 ร.ร. ส่งมอบแว่นตาให้นักเรียนที่มีปัญหาสายตาครบ 100% (ใช้งบสปสช.) รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาสำหรับนักเรียนสังกัด กทม. ผลักดันการศึกษานอกห้องเรียนผ่านโครงการ โรงเรียนวันเสาร์ เปิดรับอาสาสมัครมาช่วยสอนทักษะด้านต่างๆ โดยยึดการประชุมร่วมเพื่อให้นักเรียนกำหนดความสนใจเป็นหลัก เป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสมัครใจ โดยคัดเลือกอาสาสมัครที่มีความชำนาญในแต่ละด้านเพื่อถ่ายทอดความรู้ ออกแบบกิจกรรมการเรียนให้เด็ก
และ 9.บริหารจัดการดี โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยการ จัดเก็บค่าธรรมเนียมการจอดรถทั้งหมด 66 สายทาง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ ในการใช้จ่ายงบประมาณของ กทม. สามารถ ประหยัดงบประมาณรายจ่ายไปได้มากกว่า 1,494 ล้านบาท ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วม ของประชาชน โดยจัดตั้งสภาเมืองคนรุ่นใหม่ มีสมาชิกเกือบ 1,000 คน
“ทั้งหมดนี้เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 ธ.ค. 2566 (กรอบบ่าย)