“บิ๊กหลวง”รับห่วงขยายเวลา “เปิดผับถึงตี 4” วันแรกเปิดช่องนักเที่ยวเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายขึ้น เตือนผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบสังคม-พร้อมสั่งพักใบอนุญาตหาก ฝ่าฝืน ด้าน กทม.กางยอดสถานบันเทิงทั่วกรุง 146 แห่ง ใน 33 เขต พบ “เขตห้วยขวาง” มากที่สุด 39 แห่ง
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลอนุญาตขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่กำหนดได้จนถึงเวลา 04.00 น. โดยวันเดียวกันนี้เป็นวันแรก ว่ามีความเป็นห่วงว่านักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าถึงยาเสพติดได้เพิ่มมากขึ้น และอาจแพร่กระจายสู่เยาวชน อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลขยายเวลาดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางผู้ประกอบการภาคเอกชน ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ส่วนมาตรการป้องกันนั้น เบื้องต้นต้องสร้างการรับรู้ก่อน จากนั้น ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่จะต้องเรียกผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่ เข้ามาหารือแนวทางป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในสถานประกอบการ หากพบว่ารายใดฝ่าฝืน ไม่ให้ความร่วมมือ ตามที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้บังคับใช้มาตรการ หรือตักเตือนไปแล้ว ก็ต้องถูกบังคับใช้กฎหมายสั่งปิด 5 ปี และในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส.ก็มีอำนาจตามกฎหมายสั่งพักใบอนุญาตได้ชั่วคราว 30 วันเช่นกัน
ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานบริการในพื้นที่ถนนข้าวสาร หลังจากรัฐบาลมีนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงเวลา 04.00 น. เป็นวันแรก
ทั้งนี้ สำหรับฐานข้อมูลสถานบริการใน กทม. ที่สามารถดำเนินกิจการ ถึงเวลา 04.00 น. ตามนโยบายรัฐบาล จากการตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตและการตรวจสอบของสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง พบว่ามีกิจการที่มีใบอนุญาตสถานบริการทั้งสิ้น 207 แห่ง ในพื้นที่ 33 เขต สถานบริการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่โซนนิ่ง (รัชดาฯ RCA พัฒน์พงศ์) 73 แห่ง (อยู่ในโรงแรม 8 แห่ง) อยู่นอกพื้นที่โซนนิ่ง 134 แห่ง (อยู่ในโรงแรม 24 แห่ง)
จากการตรวจสอบทั้งหมด 207 แห่ง ปรากฏว่ายังคงเปิดบริการอยู่ 146 แห่ง ปิดปรับปรุง 3 แห่ง และปิดกิจการ 58 แห่ง โดยพื้นที่ซึ่งมีสถานบริการตั้งอยู่มากที่สุด 5 เขต ได้แก่ 1.เขตห้วยขวาง 39 แห่ง (เปิดบริการ 33 แห่ง/ปิดกิจการ 6 แห่ง) 2.เขตดินแดง 31 แห่ง (เปิดบริการ 14 แห่ง/ปิด 17 แห่ง) 3.เขตบางรัก 21 แห่ง (เปิดกิจการ 20 แห่ง/ปิด 1 แห่ง) 4.เขตวัฒนา 21 แห่ง (เปิดกิจการ 16 แห่ง/ปิด 5 แห่ง) และ 5.เขตคลองเตย 11 แห่ง (เปิดกิจการ 9 แห่ง/ปิด 2 แห่ง)
ในส่วนสถานบริการที่เปิดดำเนินการอยู่ 146 แห่ง (จากทั้งหมด 207 แห่ง) มีการลงตรวจสอบสภาพและความพร้อม ดังนี้ 1.การตรวจสอบสภาพอาคาร ถูกต้องตามกฎหมาย 145 แห่ง ไม่ถูกต้อง 1 แห่ง และ 2.ทางหนีไฟ พร้อมใช้งาน 144 แห่ง ไม่พร้อมใช้งาน 2 แห่ง ทั้งนี้ สำหรับสถานบริการที่มีสภาพทางกายภาพ ไม่ถูกต้องหรือไม่พร้อมใช้งาน สำนักงานเขตได้ออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด ทั้ง 3 รายการ อยู่ใน 2 ร้าน พื้นที่เขตดินแดง
วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันที่ 15 ธ.ค. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนด วันเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการขยายเวลาให้สถานบริการใน 5 จังหวัด/พื้นที่ ประกอบด้วย สถานบริการในท้องที่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงสถานบริการที่ตั้งที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศ ให้เปิดบริการได้ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นได้ โดยกฎกระทรวง จะเริ่มมีผลบังคับทันที ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป เป็นไปตามกรอบเวลาเริ่มต้นที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้นโยบายไว้ เพื่อให้ระยะเวลาเปิดบริการที่ยาวขึ้นช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน
นอกจากนี้ เฉพาะในคืนส่งท้ายปีเก่า วันที่ 31 ธ.ค. ตามกฎกระทรวงฉบับนี้จะขยายเวลาให้สถานบริการในทุกท้องที่ทั่วประเทศสามารถเปิดบริการไปจนถึงเวลา 06.00 น. ของ วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันปีใหม่ วันที่ 1 ม.ค. ได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อส่งเสริมบรรยากาศให้ประชาชนได้เฉลิมฉลองในวันขึ้นปีใหม่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อให้ การขยายระยะเวลาการเปิดของสถานบริการในพื้นที่ท่องเที่ยวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยกำชับหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ให้ประสานงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดดูแลให้การขยายเวลาเปิดของสถานบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย อาทิ สถานบริการต้องไม่มีการละเลยให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด การพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุความรุนแรง การตรวจสอบป้องกันไม่ใช้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าในพื้นที่สถานบริการ ตลอดจนวางแนวทางเพื่อกวดขันไม่ให้มีการเมาแล้วขับ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 16 ธ.ค. 2566