กทม.กำชับ รร.ในสังกัดป้องกันโควิด 19 หลัง ศธ.ยกเลิกมาตรการคุมโควิด 19 ในสถานศึกษา 1 ต.ค.นี้
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ในสถานศึกษาสังกัด กทม.ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกเลิกมาตรการคุมโควิด 19 ในสถานศึกษา 1 ต.ค.นี้ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้กำชับโรงเรียนในสังกัด กทม.ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน และผู้ปกครองให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน และผู้ปกครองเข้ารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม หากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนสังกัด กทม.ให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 รักษาตัวให้หายเป็นปกติ รวมทั้งให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาจัดการเรียนการสอนตามบริบทของผู้เรียน และเข้มงวดตรวจสอบให้ปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด
กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับพายุโนรู – ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงป้ายโฆษณา
นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโนรู ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงวันที่ 1 ต.ค.นี้ว่า กรุงเทพมหานคร ได้ตั้งศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุโนรู กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากพายุโนรู ในช่วงระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 1 ต.ค.65 ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝน จากอิทธิพลของพายุโนรู โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ประเมินและคาดการณ์สถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมแผนรองรับจากการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางเดียวกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่ง กทม.ร่วมกับกรมชลประทานกำหนดแผนการควบคุมระดับน้ำตามประตูระบายน้ำและเกณฑ์การระบายน้ำตามสถานีสูบน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คลองเปรมประชากรตอนบน ใช้การสูบน้ำออกไปลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คลองหกวาสายล่างระบายน้ำไปยังแม่น้ำนครนายก ส่วนคลองแสนแสบระบายน้ำส่วนหนึ่งไปยังคลองลำปลาทิวลงไปตามคลองชายทะเลแล้วสูบน้ำออกลงสู่อ่าวไทย อีกส่วนระบายน้ำไปยังคลองบางขนากลงแม่น้ำบางปะกง และคลองประเวศบุรีรมย์ระบายน้ำไปยังสถานีสูบน้ำท่าถั่วลงแม่น้ำบางปะกง สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักจากพายุโซนโนรู กรุงเทพมหานครได้เร่งลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบประสิทธิภาพอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง บ่อสูบน้ำ 316 แห่ง ให้พร้อมใช้งาน จัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำกรณีเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางนา คลองพระโขนง และคลองประเวศบุรีรมย์ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วน (หน่วย BEST) และเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งจัดซื้อกระสอบทรายเพิ่มอีก 2,500,000 ใบ ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรณีฉุกเฉิน หรือไฟฟ้าดับ ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. เช่น กรมทางหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีกทั้งกองทัพภาคที่ 1 จัดเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์และประสานสั่งการทหารเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ร่วมจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงและสถานีสูบน้ำต่าง ๆ เพื่อเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งจัดรถรับ-ส่งประชาชนกรณีมีน้ำท่วมขังระดับสูงไม่สามารถเดินทางเข้าออกจากที่พักอาศัยได้ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน รวมถึงเครื่องผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และกรมชลประทาน อีกทั้งได้บูรณาการประชุมหารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จะได้รับผลกระทบปัญหาความเดือดร้อนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดช่องทางการรับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากฝนตกหนักน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ http://dds.bangkok.go.th/ www.prbangkok.com Facebook : @BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงการแจ้งจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลักและรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านสายด่วน กทม.1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue มายังสำนักการระบายน้ำ นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า สำนักการโยธา ได้เตรียมการป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายโฆษณาล้มในช่วงพายุฝนตกหนักถึงหนักมาก มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและลมกระโชกแรง โดยประสานความร่วมมือตรวจสอบและแนะนำให้ผู้ดำเนินการและเจ้าของอาคารตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครนที่ใช้สอยเป็นประจำ รวมทั้งประสานเจ้าอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงฤดูฝน โดยกำชับเจ้าของป้ายโฆษณาให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 หากป้ายมีสภาพเก่าชำรุด อันอาจก่อให้เกิดอันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอนและดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย