กทม.ประสานกรมทางหลวงแก้ปัญหาผู้รับเหมาถมดินอุดทางน้ำ ถ.วิภาวดีรังสิต ฝั่งขาออก
นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตพญาไท กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีผู้รับเหมาถมดินอุดทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าสโมสรทหารบก - สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ว่า สำนักงานเขตพญาไท ได้ตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าว กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัท สหการวิศวกรรม จำกัด ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นดินตลอดแนวคูน้ำวิภาวดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดาดท้องคลอง โดยมีการถมดินอุดทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมผิวจราจรบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตช่องคู่ขนานก่อนถึงสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ระยะทาง 300 เมตร สำนักงานเขตฯ จึงมีหนังสือถึงผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกรุงเทพ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯ ให้แจ้งผู้รับเหมาเปิดทางน้ำไหล ไม่ให้มีกองดินกีดขวางทางระบายน้ำโดยเด็ดขาด หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะพิจารณาให้หยุดการก่อสร้าง จากนั้นได้ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง พบว่าบริษัทฯ ได้เปิดทางน้ำไหลแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 ก.ย.65 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเมื่อมีฝนตก สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่จัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่วยระบายน้ำและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า บริเวณคูน้ำวิภาวดีรังสิตอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง โดยการระบายน้ำทางทิศเหนือระบายลงคลองบางซื่อด้วยสถานีสูบน้ำที่ 1 สุทธิสาร ทิศใต้ระบายลงคลองสามเสนด้วยสถานีสูบน้ำที่ 2 ดินแดง ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างพัฒนาคูน้ำวิภาวดีรังสิต ด้วยการก่อสร้างเขื่อนและดาดท้องคลอง ทำให้ในช่วงฝนตก น้ำไม่สามารถไหลผ่านบริเวณจุดก่อสร้างเขื่อนได้ สำนักการระบายน้ำจึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวบริเวณจุดก่อสร้างตลอดแนวเป็นช่วง ๆ เพื่อสูบระบายน้ำข้ามจุดก่อสร้าง ส่งน้ำไปยังสถานีสูบน้ำทั้ง 2 แห่ง ซึ่งระบายลงคลองบางซื่อและสามเสน พร้อมทั้งขอความร่วมมือกรมทางหลวงเร่งรัดผู้รับจ้างแก้ไขการขุดดินถมในคลองที่เป็นปัญหาอุดตันทางน้ำในคูน้ำถนนวิภาวดีออกทั้งหมดและขอให้ชะลอการก่อสร้างที่ต้องปิดกั้นทางน้ำในช่วงเวลานี้ออกไปก่อน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการโยธา ได้เพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างทุกโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงปัญหาด้านการระบายน้ำบริเวณโดยรอบทุกโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ควบคุมงาน กำกับติดตาม และตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนได้กำชับผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างทุกโครงการให้ตรวจสอบโดยละเอียด หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไขทันที นอกจากนั้น ยังได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคให้ลอกท่อและจัดระเบียบการจราจรในพื้นที่โครงการก่อสร้าง และดำเนินการก่อสร้างตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค ปี 2550 และเงื่อนไขในหนังสืออนุญาต และให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด
โรงเรียน กทม.เดินหน้าสอนว่ายน้ำขั้นพื้นฐานให้เด็ก ป.3 เพิ่มทักษะการเอาชีวิตรอด ป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.สอนวิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำและวิธีการช่วยเหลือเมื่อพบเพื่อนจมน้ำให้กับเด็กนักเรียนว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้จัดทำโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ถึงปัจจุบัน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคน มีทักษะว่ายน้ำพื้นฐานและมีทักษะการเอาชีวิตรอด สามารถป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อให้นักเรียนมีสุขอนามัยแข็งแรงสมบูรณ์และห่างไกลจากยาเสพติด โดยสำนักการศึกษาได้โอนงบประมาณให้สำนักงานเขตและโรงเรียนดำเนินการตามโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย ประกอบด้วย ค่าตอบแทนอาสาสมัคร/ครูผู้สอนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางน้ำ ค่าชุดว่ายน้ำพร้อมหมวก และค่าพาหนะให้เบิกจ่ายตามที่จ่ายจริงตามระยะทางใกล้/ไกล โดยให้เบิกจ่ายตามระเบียบข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2538 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 รวมเป็นค่าใช้จ่ายคนละไม่เกิน 650 บาท/หลักสูตร ทั้งนี้ ให้ถัวเฉลี่ยทุกรายการกรณียอดใดยอดหนึ่งไม่เพียงพอ แต่ต้องไม่เกินงบประมาณที่ได้รับ
โรงเรียน กทม.เดินหน้าสอนว่ายน้ำขั้นพื้นฐานให้เด็ก ป.3 เพิ่มทักษะการเอาชีวิตรอด ป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.สอนวิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำและวิธีการช่วยเหลือเมื่อพบเพื่อนจมน้ำให้กับเด็กนักเรียนว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้จัดทำโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ถึงปัจจุบัน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคน มีทักษะว่ายน้ำพื้นฐานและมีทักษะการเอาชีวิตรอด สามารถป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อให้นักเรียนมีสุขอนามัยแข็งแรงสมบูรณ์และห่างไกลจากยาเสพติด โดยสำนักการศึกษาได้โอนงบประมาณให้สำนักงานเขตและโรงเรียนดำเนินการตามโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย ประกอบด้วย ค่าตอบแทนอาสาสมัคร/ครูผู้สอนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางน้ำ ค่าชุดว่ายน้ำพร้อมหมวก และค่าพาหนะให้เบิกจ่ายตามที่จ่ายจริงตามระยะทางใกล้/ไกล โดยให้เบิกจ่ายตามระเบียบข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2538 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 รวมเป็นค่าใช้จ่ายคนละไม่เกิน 650 บาท/หลักสูตร ทั้งนี้ ให้ถัวเฉลี่ยทุกรายการกรณียอดใดยอดหนึ่งไม่เพียงพอ แต่ต้องไม่เกินงบประมาณที่ได้รับ
กทม.ตรวจสอบความแข็งแรงของต้นไม้ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุกรณีต้นไม้โค่นล้ม
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ “โนรู” ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 28 ก.ย. - 1 ต.ค.65 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจระดับในสระน้ำในสวนสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบ และเตรียม การพร่องน้ำรองรับน้ำฝนปริมาณมาก เพื่อป้องกันน้ำท่วมทางเดิน - วิ่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกในสวน ซึ่งหากภายในสวน มีสระน้ำขนาดใหญ่ การเตรียมพร่องน้ำไว้จะช่วยเป็นแก้มลิงรับน้ำฝนบางส่วนในย่านชุมชนอีกด้วย ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย Best) 24 ชั่วโมง ในช่วงฤดูฝน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาจากเหตุต้นไม้ล้ม กิ่งไม้หักจากพายุฝนกีดขวางถนนและการจราจร พร้อมทั้งประสาน 50 สำนักงานเขต จัดเตรียมหน่วย Best ในช่วงเวลาดังกล่าว และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ กรณีต้นไม้โค่นล้มบนถนนในความรับผิดชอบ เปิดทางจราจรให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และให้การสนับสนุนสำนักงานเขตที่ประสบเหตุต้นไม้หักโค่นจากพายุฝนลมแรง รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและประเมินความเสี่ยงของต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกริมถนนในความรับผิดชอบ และสวนสาธารณะ โดยให้ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งผุ หากพุ่มใบหนาทึบไม่สมดุลกับระบบรากที่จะค้ำจุนให้ต้านแรงลมได้ให้ตัดแต่งสางโปร่งตามหลักวิชาการและหลักรุกขกรรม เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งลดความเสี่ยงต้นไม้ฉีกหัก หรือหักโค่นล้มจากพายุฝนและลมกระโชก ตลอดจนประสานสำนักงานเขตสำรวจตรวจสอบตัดแต่งกิ่งไม้ตามหลักรุกขกรรม ค้ำยันต้นไม้ใหญ่ที่เอนเอียง ลดความเสี่ยงจากต้นไม้โค่นล้ม ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือประชาชนร่วมตรวจสอบสภาพต้นไม้และกิ่งไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงพื้นที่สาธารณะ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะหัก โค่นล้ม หรือพบเห็นต้นไม้โค่นล้ม หรือเสี่ยงที่จะโค่นล้ม สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.1555 หรือแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ