กทม.ยกระดับมาตรการคุมเข้มฝุ่นจากแหล่งกำเนิด รองรับสถานการณ์ฝุ่นสูง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.มีแผนปฏิบัติการเร่งด่วนรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.จากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีแดง) โดยควบคุมฝุ่นจากแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ได้แก่ การตรวจจับรถยนต์ควันดำจากต้นตอ การตรวจสอบควันดำจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วน ส่งเสริมการใช้รถโดยสารสาธารณะ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนบำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์โดยการเปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเพื่อลดฝุ่น จอดรถดับเครื่องยนต์ ไม่จอดรถกีดขวางจราจร การตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงานทั้งสถานประกอบการหลอมโลหะ กิจการที่มีการใช้หม้อต้มไอน้ำด้วยเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล หยุดกิจกรรมก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองเป็นช่วงเวลา กวดขันห้ามเผาในที่โล่ง และการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิดผ่านเว็บไซต์ GISTDA รวมทั้งประสานขอความร่วมมืองดการเผาในที่โล่งในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง สำหรับร้านอาหารประเภทปิ้งย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ดำเนินแนวทางควบคุมและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 โดยส่งเสริมและขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้เตาไร้ควัน เพื่อมีส่วนร่วมลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันได้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามรายงานสถานการณ์ฝุ่น พร้อมค่าพยากรณ์แจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok และเมื่อมีข้อมูลพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 มีค่าเกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะประกาศขอความร่วมมือบริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐพิจารณาใช้นโยบายการปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home) ตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยปัจจุบันมีเครือข่ายตอบรับ เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 102 แห่ง จำนวน 47,677 คน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเมื่อพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการแก้ไข
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้จัดชุดสายตรวจและประสานกับฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตออกตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ ขณะเดียวกันได้สนับสนุนการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์/เครื่องยนต์ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน นอกจากนั้น ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ให้มีการเผาขยะในที่โล่ง รวมถึงประสานความร่วมมือผู้ประกอบการ/เจ้าของร้านจำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่าง เพื่อมีส่วนร่วมลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ต้องมีเครื่องดูด หรือเก็บควันก่อนปล่อยออกมาจากสถานประกอบการ
กทม.ส่งเสริมเกษตรกรทำฟางอัดก้อนลดปัญหาเผาพื้นที่การเกษตร ประชาสัมพันธ์“ห้ามทิ้ง ห้ามเผา”ที่รกร้าง
นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาการเผาพื้นที่การเกษตรว่า สำนักงานเขตหนองจอก ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง พร้อมทั้งจัดประชุมคณะทำงานฯ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือชุมชน ขณะเดียวกันได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวง เพื่อแจ้งให้เกษตรกรในพื้นที่งดเผาตอซังข้าว วัชพืช และขยะ รวมถึงการเผาที่รกร้างว่างเปล่า รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำฟางอัดก้อน เพื่อลดปัญหาการเผาในที่โล่ง โดยได้สำรวจพื้นที่สร้างโรงเก็บฟางข้าวอัดก้อนในพื้นที่เขตหนองจอก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณพื้นที่ดินของเกษตรกร แขวงลำต้อยติ่ง และบริเวณพื้นที่ดินของประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีแขวงลำต้อยติ่ง อีกทั้ง สำนักงานพัฒนาสังคม กทม.ยังได้จัดโครงการลดการเผาตอซังข้าวและวัสดุทางการเกษตร โดยอบรมให้ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์และลดการเผาตอซังข้าว พร้อมทั้งจัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้ง และจัดทำหนังสือแจ้งเจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้แก้ไขปรับปรุง ขจัดต้นไม้ที่รกรุงรัง และจัดทำรั้วปิดกั้นโดยรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปภายใน หรือทิ้งสิ่งปฏิกูลมูลฝอย หรือจุดไฟเผาขยะ หรือหญ้า
นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ตรวจเยี่ยมเกษตรกรและรณรงค์ประชาสัมพันธ์แจกจ่ายประกาศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้งแก่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ใกล้เคียงบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า สถานที่ที่มีการลักลอบทิ้งและเผาขยะบริเวณที่เคยเกิดเหตุไฟไหม้ในที่โล่ง รวมทั้งติดป้ายประชาสัมพันธ์ “ห้ามทิ้ง ห้ามเผา” ในบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งตรวจตรากวดขันบริเวณที่มีการลักลอบทิ้งและเผาขยะ โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจชุดสายตรวจกวดขันบริเวณที่รกร้าง บริเวณที่มีการลักลอบเผาขยะ และบริเวณที่เคยเกิดไฟไหม้ในที่โล่ง
นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตมีนบุรี ได้จัดทำประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขไฟไหม้หญ้าในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในพื้นที่เขต และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชน รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบและกวดขันดูแลไม่ให้มีการฝ่าฝืนจุดไฟเผามูลฝอย ขยะ ใบไม้ หญ้า และวัสดุอื่น ๆ ในบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ว่างริมทาง หรือพื้นที่สาธารณะ พร้อมทั้งดำเนินคดีหากพบการฝ่าฝืน ขณะเดียวกันได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะเก็บกวาด ฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ ฉีดล้างถนน ใบไม้ ต้นไม้ และทางเท้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ฝ่ายโยธาตรวจสอบโครงการก่อสร้างในพื้นที่ กำกับ ควบคุม และแนะนำเรื่องมาตรการควบคุมป้องกันปัญหาฝุ่นละออง และฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสวนสาธารณะตรวจกำกับติดตามสถานประกอบการที่ปล่อยมลพิษอากาศออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศใน กทม.ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรการควบคุม ป้องกันฝุ่นละออง