ศศวัชร์ คมนียวนิช -เรื่อง
ชวลิต ปานยงค์ -ภาพ
นับเป็นชื่อที่ต้องจดจารไว้ในประวัติศาสตร์ของ ‘กรุงเทพมหานคร’ สำหรับ ดร.พวงผกา แสงเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย ข้าราชการครูผู้ได้เลื่อนวิทยฐานะ ‘เชี่ยวชาญพิเศษ’ เทียบเคียงข้าราชการ ‘ซี 10’ ในยุคก่อน
สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความยินดีจากเพื่อนครูและนักเรียนอันเป็นที่รัก
ทั้งยังเกิดฉากซึ้งตราตรึงใจ เมื่อ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงกับนำ ‘ปากกา’ ส่วนตัวมอบให้ตามธรรมเนียมตะวันตกเพื่อแสดงถึงการนับถือยกย่อง
“รับราชการมา 30 ปี ไม่เคยมีรองผู้ว่าฯโทรหา” ดร.พวงผกากล่าวตอนหนึ่งถึงความประทับใจในยุค #ทีมชัชชาติ บริหารหน่วยงานเสาชิงช้า โดยรองผู้ว่าฯท่านนั้นก็คือ ทวิดา
เหตุเกิดบนเวที Special Talk ในงานที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ อีกหนึ่งรองผู้ว่าฯกทม. ร่วมจัดงานเพื่อแสดงความยินดี
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาไม่เพียงความน่าชื่นชมยินดี หากแต่บ่งชี้ถึงการยกระดับของสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร
ดร.พวงผกา คือชาวกรุงเทพฯโดยกำเนิดในฐานะชาวบางซื่อ บิดาเคยทำงานรับราชการทหาร ก่อนลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัว เป็นลูกคนสุดท้ายในพี่น้องถึง 10 คน รับราชการเกือบทั้งหมด พี่น้องผู้หญิง 4 คน ล้วนเป็น ‘ครู’ รวมครูพวงผกา ผู้ซึ่งเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานตามลำดับ
นั่งเก้าอี้ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ เทียบเท่ารองผู้อำนวยการในปัจจุบัน เมื่ออายุเพียง 29 ปี
ปัจจุบันเป็นหัวเรือใหญ่ของโรงเรียนชื่อดังในเขตสายไหมอย่างฤทธิยะวรรณาลัย ที่ประกาศสโลแกนบนหน้าเว็บไซต์ ความว่า ‘องค์กรแห่งการเรียนรู้ คู่คุณธรรม สร้างเสริมพหุปัญญา พัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21’
เน้นการบริหารงานแบบ ‘มีส่วนร่วม’ ทั้งครู ผู้ปกครอง และนักเรียน
ดร.พวงผกา จบปริญญาตรีสาขา ‘คหกรรมศาสตร์’ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ก่อนคว้าปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตามลำดับ
จากนั้นคว้าปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยกรุงเทพมหานครให้ทุนทั้งระดับปริญญาโทและเอก
“(กทม.) มีพระคุณต่อเราที่ให้โอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น”
แรงบันดาลใจในการเข้าสู่อาชีพ ‘ครู’ มาจากไหน?
มาจากตอนยังเป็นนักเรียนที่โรงเรียนประสาทพร จังหวัดนนทบุรี เป็นโรงเรียนเอกชน มีคุณครูท่านหนึ่ง ชื่อครูวารุณี เอาใจใส่นักเรียนอย่างมาก เวลามีกิจกรรมในห้องคุณครูท่านนี้จะแอ๊กทีฟมากเลย จัดห้องเรียนสวยงามเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่าเข้าห้องเรียนแล้วตื่นเต้น เซอร์ไพรส์ อยากจะเรียน เวลามีกิจกรรมวันปีใหม่ หรือโอกาสต่างๆ คุณครูก็จะมีสีสันในการจัดกิจกรรมให้เด็กมีความสุข และอีกหนึ่งวันที่เด็กรอคอยมากที่สุดก็คือวันกีฬาสี ครูวารุณีก็จะเป็นแม่สี สีไหนที่ครูท่านนี้อยู่ก็จะเลิศหรูเลย ทำดีหมด เด็กก็ดีหมดเลย แสดงว่าครูเป็นตัวกระตุ้นทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ได้
เชื่อไหมว่า ต่อมาครูวารุณีลาออกมาสอบเข้าโรงเรียนสังกัด กทม. คือโรงเรียนชุมทางตลิ่งชัน แล้วบังเอิญตัวเองก็ได้ไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนนั้น ไปเจอกับคุณครูตัวเอง เลยมีความคิดว่าเราอยากจะเป็นครูเหมือนคุณครูท่านนี้ เพื่อที่จะได้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก และจัดการเรียนการสอนที่ดี จัดห้องเรียน จัดบรรยากาศให้เด็กอยากเรียนรู้ เพราะว่าเด็กก็คือทรัพยากรสำคัญของประเทศชาติ
เมื่อได้เป็นครูสมความตั้งใจแล้ว ใครคือ ‘ไอดอล’ ในการทำงาน?
เริ่มแรกบรรจุเป็นครู กทม.เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ที่โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ แล้วก็ไปเจอผู้บริหารท่านหนึ่ง คือ ผอ.เสาวนีย์ คันธาแก้ว ทุกคนในโรงเรียนจะเรียกว่า ‘แม่ใหญ่’ ใครบรรจุใหม่ท่านก็จะเรียกนิเทศ สอนการเขียนแผนการทำชุดการสอน การทำกิจกรรมกับเด็ก
ที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอน มีวีดิทัศน์เพื่อการศึกษาตอนเช้าให้นักเรียนจดบันทึกว่าสิ่งที่ ผอ.พูดมีเรื่องอะไรบ้าง คุณครูก็ตรวจทุกวัน เด็กก็ได้ความรู้ สามารถสรุปใจความสำคัญจากการฟังได้ และจับข้อคิดนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการฝึกฟัง คิด วิเคราะห์และเขียน
ตอนปิดภาคเรียนจะมีการให้รางวัลกับคุณครูที่ทำงาน ปรากฏว่าเราก็ได้รางวัลของห้อง ป.2 คนเดียวเยอะมากเลย ทั้งรางวัลตรวจผลงานดีเด่น รางวัลตรวจแผนการสอน รางวัลตรวจวีดิทัศน์ดีเด่น รางวัลจัดห้องเรียนดีเด่น คือได้เกือบหมด วันนั้นใส่เสื้อสีแดง แล้วท่าน ผอ.ก็ใส่เสื้อสีแดงเหมือนกัน ท่านก็บอกปลื้มใจครูพวงผกามาก ได้รับรางวัลหมดเลย ท่านก็เลยให้ไปเป็นหน้าห้อง ทำงานเกี่ยวกับการบริหารทั้งหมด ทำหนังสือประสานหน่วยงานต่างๆ เราได้เห็นว่าท่านทำงานให้กับเด็ก ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของตัวเอง ทำงานถึงสองสามทุ่ม จนโรงเรียนพัฒนาเป็นที่ยอมรับของชุมชน
กล่าวได้ว่าเป็นจุดที่ทำให้มุ่งสู่สายบริหาร?
ตอนนั้นเราเห็นปุ๊บก็คิดว่าคงอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว ก็เลยไปสอบขึ้นสู่สายบริหาร สอบครั้งแรกก็ติด เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนชุมทางตลิ่งชัน ตอนอายุ 29 ปี ได้เจอกับครูวารุณี อยู่ได้ประมาณ 2 ปี ก็ย้ายไปที่โรงเรียนวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ เป็นผู้ช่วย ผอ.อยู่เกือบ 7 ปี แล้วสอบได้เป็น ผอ.โรงเรียนวัดพระยาทำ เขตบางกอกน้อย ตอนอายุ 39 ปี เป็นโรงเรียนวัดที่มีเด็กแค่ 80 คน เล็กที่สุดในเขต มีคนแซวว่า ผอ.เปิ้ลโดนทำโทษ
นโยบาย กทม.เน้นเรื่องโครงการรักการอ่าน ซึ่งตอนนั้นทางโรงเรียนยังไม่เคยได้รับรางวัล เลยประชุมครูแล้วก็จัดกิจกรรมต่างๆ ให้เด็ก ซึ่งก็ผ่าน แล้วเด็กก็สอบโอเน็ตผ่านกันทุกคนเลย เพราะเด็กน้อย ครูก็ช่วยกันอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากทหารเรือด้วยเพราะว่าโรงเรียนอยู่ใกล้กรมอู่ฯ
เป็น ผอ.ที่นั่นประมาณ 7 เดือน แต่ทำโรงเรียน หมดเกลี้ยงเลย เพราะเป็นคนตั้งใจ ทำงานหนัก อยากให้เด็กๆ ได้อยู่ที่ดีๆ อยากให้คุณครูจัดการเรียนการสอนดีๆ
ตอนดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนวัดเทวราชกุญชร สมศ.ประเมินผ่านหมด ‘ดีเยี่ยม’ ทุกมาตรฐาน มีกลยุทธ์อย่างไร?
โรงเรียนวัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต มีเด็กประมาณ 300 คน คุณครูประมาณ 15 คน เราได้รับความร่วมมือในการทำงานอย่างดี ท่านเจ้าคุณ เจ้าอาวาสวัด เทวราชกุญชร ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาก็ให้การสนับสนุนส่งเสริม ทุกคนในโรงเรียนต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน เมื่อมีส่วนร่วมปุ๊บก็จะทำให้เขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโรงเรียน รักโรงเรียน และช่วยเหลืองานต่างๆ เป็นอย่างดี สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)) มาประเมินก็ผ่านหมดทุกมาตรฐานในระดับดีเยี่ยม โอเน็ตก็ผ่านทุกกลุ่มสาระเป็นเวลา 2 ปี อยู่ที่นี่ได้รับพระราชทานรางวัลลูกที่มีความกตัญญูกตเวที และรางวัลคุรุสดุดี เด็กๆ มี ความรู้ เด็กอ่านออกเขียนได้ มีคุณธรรมจริยธรรม เวลามีผลงานได้รางวัล ครูเห็นปุ๊บก็รู้สึกว่าใช่แล้ว! สิ่งที่เราทำงานกันอยู่ เลยทำให้เกิดความศรัทธาจากข้าราชการครู ทุกคนเลยให้ความร่วมมือกับเราเป็นอย่างดี
เคล็ดลับในการทำให้นักเรียนสอบ โอเน็ตผ่าน ไม่ใช่แค่ ‘ติว’?
เราจะนิเทศคุณครูว่าในการจัดการเรียนการสอน ติวอย่างเดียวไม่ได้นะ เราจะเริ่มตั้งแต่ทำหลักสูตร คุณครูต้องวิเคราะห์หลักสูตร บริหารหลักสูตร เขียนโครงสร้าง เวลาเรียน นำสู่การจัดทำแผนการเรียนรู้ หรือแผนการสอน เพราะฉะนั้นเวลาครูสอนก็ต้องสอนตามแผนการสอนที่ครูเขียน ซึ่งอิงตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 แล้วก็ได้นิเทศครูว่าการจัดการเรียนการสอน ต้องเป็นไปตามตัวชี้วัด กับมาตรฐานการเรียนรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เราจะไม่ยึดหนังสือเรียนอย่างเดียว เราต้องดำเนินการตามหลักสูตร ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 เราจะเรียนตามหลักสูตรเรียน ตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตามตัวชี้วัด ถ้าเราดำเนินการตามนี้ เด็กก็จะสอบโอเน็ตได้ครบทุกคน ข้อสอบโอเน็ตจะไม่ออกหนีไปจากหลักสูตร แต่จะเพิ่มในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ หลังจากนิเทศเสร็จเราก็จะพูดคุยกับครูว่ามีข้อดีอะไรในการสอน เพื่อเป็นแรงเสริมให้กับเขาได้ทำหน้าที่ครูที่ดีต่อไป แล้ว ป.6 ก็มีการจัดสอนเสริม ให้เขาได้เรียนรู้ข้อสอบของโอเน็ตด้วย
วิธีการนี้ทำให้โรงเรียนวัดเทวราชกุญชรผ่าน โอเน็ต 8 กลุ่มสาระ 2 ปีซ้อน ปีแรกบอกคุณครูว่า ถ้าปีที่ 2 ไม่ได้แสดงว่าฟลุคนะ พอได้ปีที่ 2 ก็แสดงว่าอันนี้คือคุณภาพ แล้วเราก็เอาการสอบกลางภาคมาใช้ในการสอบวัดผลกับนักเรียนด้วย และยังมีการสอบที่วัดทักษะในระหว่างเรียน ในการวัดความรู้ที่เป็นข้อสอบ จะให้เนื้อหาการสอบกับผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการดูแลนักเรียนด้วย
‘แอปเปิ้ลโมเดล’ ที่ใช้ในการทำงานคืออะไร?
แอปเปิ้ลโมเดล ไม่ใช่ของไอโฟนนะ แต่มาจากชื่อเล่นของตัวเองคือ ‘เปิ้ล’ น่าจะเป็นนวัตกรรมทางด้านบริหาร เราใช้ในการทำงานในโรงเรียนต่างๆ ที่ผ่านมา Apple Model ย่อมาจาก A คือ Aspiration ความทะเยอทะยาน ความต้องการที่จะให้คุณครูมีแรง บันดาลใจ มีความใส่ใจในการทำงาน P คือ Proactive การทำงานเชิงรุก มีการวางแผน มีการร่วมกันตัดสินใจ สามารถเผชิญเหตุในการแก้ปัญหาร่วมกันได้ P อีกตัวหนึ่งคือ Professional การทำงานด้วยความเชี่ยวชาญแบบผู้บริหารมืออาชีพ ส่วน L คือ Learning and Growth เรียนรู้และพัฒนา เราเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน นำมาพัฒนา เป็นการเรียนรู้จากอดีตเพื่อมองภาพในอนาคต การทำงานไม่ได้ประสบความสำเร็จหมด มันก็จะมีความผิดพลาดด้วย เพราะฉะนั้นครูทุกคนต้องเรียนรู้จากข้อบกพร่อง แล้วนำมาพัฒนา สุดท้าย E คือ Evaluation การทำงานทุกครั้งต้องมีการประเมินผล เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
ความท้าทายนโยบายแต่งชุด ไปรเวต?
เราเป็นข้าราชการก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย พอหนังสือมาถึงโรงเรียนปุ๊บ เราประชุมครูก่อน เสนอว่านำตัวแทนผู้ปกครองมา เสร็จแล้วก็ได้เรียก ผู้ปกครองมาประชุมกัน จัดกลุ่มแล้วก็มาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร
บางคนเห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย ปรากฏผล ออกมาในลักษณะไม่เห็นด้วยเยอะ เลยบอกว่า คุณแม่ เรามาลองกันดูก่อนไหม แต่เรามีกติกาว่าอย่าแต่งโป๊ เด็กประถมไม่โป๊อยู่แล้ว อย่าใส่รองเท้าแตะ อย่าใส่ของฟุ่มเฟือยมาโรงเรียน ก็ดีมาตลอดจนถึงวันนี้ มีการประเมินผลตอนปลายเทอมที่แล้ว ส่งกูเกิลฟอร์มไป ตอบรับมา 80% ให้แต่งต่อ ถือว่าประสบความสำเร็จ เราประชุมแบบมีส่วนร่วม และเรามีแนวคิดดีๆ ให้กับ ผู้ปกครองจนสุดท้าย 80% ให้ใส่ต่อ
แล้วเด็กก็น่ารักด้วยนะ ใส่ชุดมนุษย์ค้างคาวมาเรียนหนังสือ ก็น่ารักดี
นอกจากนี้ เรื่องผ้าอนามัยฟรี เราทำโดยไม่ได้อาศัยงบประมาณ เราบริหารจัดการด้วยตัวเอง ให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีการติดตั้งกล่องตู้ผ้าอนามัยแล้วก็ให้เด็กลงทะเบียนไว้ อีกโครงการหนึ่งที่เข้าร่วม โดยถามคุณครูว่าโอเคไหมก็คือ Education Sandbox (พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา) ซึ่งที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยมีเรื่องของ หุ่นยนต์ Education Sandbox
ผู้บริหาร กทม.มีแนวคิดการปรับเกณฑ์ ‘วิทยฐานะ’ ของข้าราชการครู กทม.จากการประเมินผ่านเอกสารอย่างเดียว มาเป็นการดูพัฒนาการของนักเรียน ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่?
เห็นด้วย เพราะว่าคุณครูเราทำงานเยอะ ดูเด็ก ทั้งวัน ดูทุกอย่าง เราไม่ได้ทำงานกับเอกสาร เราทำงานกับเด็ก ถ้าเราไม่อยู่ปุ๊บ เอาแล้ว วุ่นวายสับสน หัวแตกบ้างอะไรบ้าง เราก็ต้องดูแลเขา เด็กคือหัวใจ เราทิ้งเด็กไม่ได้ ถ้าเราทำผลงานวิชาการเป็นเอกสารแล้วผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรวจไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ไม่เคยเห็นการสอนเลย เห็นแต่การเขียน บางครั้งไม่รู้หรอก อยากให้เปลี่ยนเกณฑ์มาประเมินตามสภาพจริงที่โรงเรียน โดยดูคุณภาพเด็ก ดูคุณภาพครูจากคุณภาพเด็ก
อีกประเด็นหนึ่ง ผอ.เห็นเลยว่าครูคนไหนสมควรได้เลื่อนวิทยฐานะ ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภายนอก มันก็จะได้คนบางคนที่ไม่ทำงาน แต่ได้เลื่อนวิทยฐานะ เราอยากจะให้ข้าราชการครูที่ทำงานจริงได้เลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้น อย่างน้อยต้องได้ชำนาญการพิเศษก่อนเกษียณอายุราชการ
สุดท้าย หลักสำคัญในการทำงานที่ยึดถือคืออะไร?
ทำงานด้วยใจ แต่ไม่ได้ทิ้งครอบครัว ดูแลรับส่งลูกตลอด ตอนเป็นผู้ช่วย หรือเป็น ผอ. รับลูกเสร็จก็ต้องเอาเขากลับมาที่โรงเรียนด้วย จนลูกเรียนจบปริญญาตรี ดูแลตลอดไม่เคยทิ้ง เพราะฉะนั้นไม่ใช่งานอย่างเดียว ครอบครัวก็สำคัญด้วย แล้วเราก็สามารถเป็นแบบอย่างให้กับลูกได้
“ผอ.เห็นเลยว่าครูคนไหนสมควรได้เลื่อนวิทยฐานะ ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภายนอก มันก็จะได้คนบางคนที่ไม่ทำงาน แต่ได้เลื่อนวิทยฐานะ เราอยากจะให้ข้าราชการครูที่ทำงานจริงได้เลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้น”
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2566