จัดงานฉลองสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ เผยแพร่องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้ชาวไทยรักและหวงแหนสืบทอดวัฒนธรรมล้ำค่า พร้อมกับการสร้างการรับรู้ให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ในโอกาสที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดขึ้นที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพ วรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันก่อน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมคณะรัฐมนตรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยมี ซูฮย็อน คิม ผอ.สำนักงานยูเนสโกประจำประเทศไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะทูตานุทูต ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น และจีน ร่วมเป็นสักขีพยาน นางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัด วธ. ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครและจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมงาน ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น
ตื่นตาตื่นใจกับขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival) 8 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศ แผ่นดินไทย ขบวนอันเชิญพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) ขบวนตำนานนางสงกรานต์ทั้ง 7 วัน ไฮไลต์ แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ประจำปี 2567 ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย มือขวาถือจักรเป็นอาวุธ ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง ต่อด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ปิดท้ายด้วยขบวนธงตราสัญลักษณ์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีในงานฉลองสงกรานต์ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ประเพณีปีใหม่ไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว 3 รายการ คือ โขน เมื่อปี 2561 นวดไทย เมื่อปี 2562 และโนรา ปี 2564 และล่าสุด สงกรานต์ในประเทศไทย ปี 2566 ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทย
ในนามประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขอประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ ดังนี้ 1.ประเทศไทยจะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์ประเพณีสงกรานต์ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน 2.ประเทศไทยจะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ในฐานะ ตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3.ประเทศไทยจะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้สามารถเข้าถึงประเพณีสงกรานต์ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และจะร่วมกับชุมชนนานาชาติในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ในทุกที่ ด้วยจิตใจของความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้ดำเนินการเสนอ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ประเพณีปีใหม่ไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อ UNESCO นับเป็นความยินดีและภาคภูมิใจของคนไทยในโอกาส UNESCO ขึ้นทะเบียนสงกรานต์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
“สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกภูมิภาคในไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดมาอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมาย สะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทยที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้ที่เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดแสดงการละเล่น-ละครพื้นบ้าน และมหรสพต่างๆ เป็นต้น วธ.จะร่วมกับชาวไทยส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศชาติ การจัดงานฉลองสงกรานต์ฯ ครั้งนี้ชาวต่างชาติที่อยู่ในบ้านเราเข้าใจและยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน” รมว.วธ.กล่าว
บรรยากาศภายในงานจัดให้มีการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์จำลอง หลวงพ่อพระใสจำลอง พระศรีศากยมุนี สรงน้ำพระสงฆ์และรดน้ำขอพรอาวุโส ทั้งที่ลานคนเมืองและพระวิหารวัดสุทัศน์ นอกจากนี้ภายในงานฉลองสงกรานต์ลานคนเมืองคลาคล่ำด้วยผู้คนมาร่วมฉลองและจับจ่ายซื้อสินค้าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของ วธ.กว่า 30 ร้านค้า และร้านจำหน่ายอาหาร ขนมไทย จากสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มาชมและชิมอย่างเต็มอิ่ม อีกทั้งรื่นเริงบันเทิงลีลาศไปกับการแสดงวงดนตรี โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์มากกว่า 40 บทเพลงร่วมฉลองสงกรานต์มรดกโลก.
บรรยายใต้ภาพ
ฉลองยิ่งใหญ่สงกรานต์มรดกโลกที่ลานคนเมือง
ขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์คู่บ้านคู่เมือง
นายกฯ นำชาวไทยประกาศเจตนารมณ์รักษาประเพณีสงกรานต์
ตระการตาขบวนตำนานนางสงกรานต์ แอนโทเนีย โพซิ้ว เข้าร่วม
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 11 ธ.ค. 2566