กทม.เตรียมออกประกาศมาตรการแก้ไขภัยแล้ง-ป้องกันอัคคีภัยในกรุงเทพฯ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุไฟไหม้หญ้าและกองขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานครมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นกรอบแนวทาง การดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดในช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดย สปภ.เป็นหน่วยสนับสนุนสำนักงานเขตควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง จึงได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยเร่งออกปฏิบัติการดับเพลิงไหม้หญ้า หรือการเผาชีวมวลต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อลดจุดความร้อน ป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ประกอบกับช่วงตั้งแต่เดือน ธ.ค.66 – พ.ค.67 เป็นช่วงเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงได้ยกร่างประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาลงนาม โดยจะแจ้งประกาศดังกล่าวให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเจ้าของที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ามิให้เผาหญ้าและขยะในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่กวดขันจับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้า หรือขยะ และลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า รวมทั้งขอให้สำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ รวมถึงรณรงค์เน้นย้ำสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก งดการเผาในที่โล่ง ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบเหตุไฟไหม้หญ้า กองขยะ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เดินหน้าปรับปรุงทางเดิน-ทางจักรยาน จัด Bike Sharing เช่าปั่นเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะการส่งเสริมการใช้จักรยานเชื่อมต่อการเดินทางว่ากรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ทั้งล้อ (รถยนต์) ราง (รถไฟฟ้า) หรือเรือ ไปยังสถานศึกษา ที่ทำงาน โรงพยาบาล สวนสาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกปลอดภัย โดยได้ปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานในย่านบำรุงเมืองแล้วเสร็จ ส่วนปี 2567 จะปรับปรุงเพิ่มเติมในย่านสามยอด ย่านลาดพร้าว ย่านท่าพระ และย่านพร้อมพงษ์
นอกจากนั้น สจส.ยังได้ร่วมกับ 50 สำนักงานเขตปรับปรุงเส้นทางจักรยานให้ปั่นได้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้เป้าหมายอย่างน้อย 500 กิโลเมตร ประกอบด้วย การปรับปรุงทางแยกบนถนนประดิษฐ์มนูธรรม 5 แห่ง ให้เป็นทางแยกทางร่วมจักรยานได้ภายในปี 2568 ปรับปรุงทางเดินและทางปั่นจักรยานเลียบคลองผดุงกรุงเกษมแล้วเสร็จ และปรับปรุงทางเลียบคลองแสนแสบอีก 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงสถานีสูบน้ำรามคำแหงซอย 1 - ซอยมหาดไทย ช่วงทางด่วนเฉลิมมหานคร - ประตูน้ำคลองตัน และช่วงทางด่วนเฉลิมมหานคร - สะพานผ่านฟ้าฯ รวมถึงปรับปรุงจุดจอดจักรยานให้มีรูปแบบที่ใช้งานได้สะดวกปลอดภัยเพิ่มเติมอีก 750 จุด และจัดให้มีจักรยาน Bike Sharing ให้บริการเช่าปั่นเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ในรูปแบบใหม่ โดยใช้งานผ่าน Mobile Application ซึ่งจะเริ่มนำร่องให้บริการจักรยานก่อน 2,000 คันในปีนี้
กทม.คุมเข้มแหล่งกำเนิดมลพิษ กวดขันงดการเผาในที่โล่ง-พื้นที่การเกษตร 18 จุด
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 รวมถึงคุมเข้มแหล่งกำเนิดมลพิษว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 และมีมาตรการเชิงรุกในการรับมือและแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สะสมในช่วงฤดูหนาว-ฤดูร้อนที่สภาพอากาศแห้งและอาจทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศเพิ่มขึ้น โดยได้ดำเนินการตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเข้มงวด ตรวจจับควันดำจากต้นตอ การตรวจควันดำริมเส้นทางจราจร การติดตามเฝ้าระวังจุดความร้อนผ่านเว็บไซต์ GISTDA รวมถึงกวดขันควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิด ตามแผนลดฝุ่น PM2.5 เพื่อให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตรได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ พร้อมรณรงค์เน้นย้ำสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในการเพาะปลูก ส่งเสริมการนำตอซังฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ ใช้จุลินทรีย์หมักย่อยสลายตอซังแทนการเผา ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสานขอความร่วมมืองดการเผาในที่โล่งในพื้นที่ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เตรียมความพร้อมติดตามสถานการณ์และรับมือกับพื้นที่เสี่ยงการเผาภาคการเกษตรในพื้นที่เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง และเขตบางเขน จำนวน 18 จุด
นอกจากนี้ กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจวัดควันดำรถบรรทุกขนาดใหญ่บริเวณท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีรถบรรทุกเข้าออกจำนวนมาก เพื่อควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันให้บริการตรวจบำรุงรักษารถยนต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลดราคาอะไหล่ น้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เป็นต้น ในช่วงที่มีค่าฝุ่นละอองสูงระหว่างเดือน พ.ย.66 - เม.ย.67 เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองจากยานพาหนะ รวมถึงดำเนินมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การล้างและดูดฝุ่นบนถนน การล้างต้นไม้ใบไม้ทุกวัน เพื่อดักจับฝุ่นละออง การรวบรวมข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศให้เป็นปัจจุบัน ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ตามสถานการณ์ฝุ่นแต่ละระดับอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำการสื่อสารเชิงรุก รายงานสถานการณ์ฝุ่น พร้อมค่าพยากรณ์แจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com FB : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร FB : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม FB : กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองและมีส่วนร่วมลดปัญหา และทราบถึงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเมื่อพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue
เขตพญาไทกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าปากซอยอินทามระ 10
นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง ผู้อำนวยการเขตพญาไท กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพผู้ค้าตั้งวางจำหน่ายสินค้ากีดขวางทางสัญจรบนทางเท้าบริเวณปากซอยอินทามระ 10 ว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายเทศกิจตรวจสอบพบผู้ค้าลักลอบทำการค้า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่ใช่จุดที่อนุญาตให้ทำการค้า ประกอบกับสำนักการโยธา กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้าตลอดแนวถนนสุทธิสารวินิจฉัยในพื้นที่เขตพญาไททั้งสองฝั่ง จึงได้กวดขันให้ผู้ค้าเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไม่ให้กีดขวางทางสัญจรของประชาชน ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสายตรวจเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ พร้อมทั้งตรวจสอบไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน