(15 ธ.ค.65) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข สภากรุงเทพมหานคร ร่วมแสดงข้อคิดเห็นในการประชุมเชิงปฏิบัติการ Sandbox กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ได้ผลักดันให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บัตรทอง ซึ่งไม่มีโอกาสใช้บริการของสถานพยาบาลเอกชน แต่เชื่อว่าโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครจะให้การดูแลประชาชนเป็นอย่างดีไม่แพ้กัน
ทั้งนี้ในอดีตการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ถ้าไม่ป่วยประชาชนจะไม่ไปหาหมอ เนื่องจากการไปพบหมอมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่ในวันนี้กทม.ได้จัดให้มีบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ คลินิกอบอุ่น และSandbox รวมถึงการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขที่เห็นได้ชัดเจน หลายแห่งได้ปรับแนวคิดและวิธีการทำงาน ซึ่งเดิมทำอยู่แล้วแต่ทำได้ดีขึ้น มีการจัดให้พูดคุยกับหมอผ่านแอปพลิเคชัน การไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งต้องขอบคุณทุกหน่วยงานและเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นและประชาชนสามารถดูแลตนเองได้มากขึ้น
สำหรับการประชุมครั้งนี้ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมหาแนวทางทำให้สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามดุสิตโมเดลมีขอบเขตที่ง่ายต่อการดูแล แต่ปัญหาคือกทม.ไม่ได้มีโรงพยาบาลในสังกัดครบ 50 เขต อย่างเช่น พื้นที่กรุงเทพฯ โซนเหนือ ไม่มีโรงพยาบาลสังกัดกทม. มีแต่สังกัดทหารอากาศ นอกนั้นคือรพ.เอกชนทั้งหมด แต่การรักษาพยาบาลนั้นไม่มีสังกัด เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องข้ามเขตรักษาไปได้ทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นไปตามความหมายใกล้บ้านใกล้ใจ
ทั้งนี้หากสรุปประเด็นปัญหาที่พบในขณะนี้ มี 3 ข้อ คือ
1.ระยะทางในการเดินทาง ซึ่งก็คือปัญหาในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
2.ความไม่รู้ว่าโรงพยาบาลใดมีความชำนาญด้านใด หากไปถูกที่ถูกทางการรักษาจะรวดเร็วและง่ายขึ้น
3.สิทธิการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้บัตรประกันสุขภาพ แต่ต้องขอบคุณสปสช.ที่ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนได้สอบถามข้อมูลผ่านสายด่วน 1330 ได้
นางกนกนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้กรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานที่มีโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และความสามารถในการดูแลสุขภาพประชาชน ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ โซนเหนือมีสถานพยาบาลซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน หรือการทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไปรับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดได้ ซึ่งอาจต้องประสานโรงพยาบาลนอกสังกัดเพื่อทำความร่วมมือ ทั้งนี้ ปัญหาการเดินทาง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่หน่วยงานที่ทำSandboxต้องพิจารณา ให้สมกับแนวคิดที่ตั้งไว้ คือ ใกล้บ้านใกล้ใจ รวมถึงสิ่งสำคัญคือการจับคู่โรงพยาบาลเพื่อดูแลให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่สะดวก รวดเร็วและง่ายขึ้น สก.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดันให้ประชาชนได้มีสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านใกล้ใจอย่างที่ประชาชนหวังไว้ คือ ในยามที่เจ็บป่วย สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ทั่วถึงและเสมอภาคทุกคน
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถรับชมการประชุมย้อนหลังได้ทาง