กทม.เดินหน้ามาตรการเชิงรุกลดกระทบประชาชนช่วงค่าฝุ่น PM2.5 สูง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุก เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือน ธ.ค.2566 – มี.ค.2567 พร้อมทั้งมีมาตรการเชิงรุก เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.ในปี 2567 ประกอบด้วย การเฝ้าระวังแจ้งเตือนฝุ่น การควบคุมแหล่งกำเนิด และการป้องกันดูแลสุขภาพประชาชน รวมถึงรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ พัฒนาทางเท้า ส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยาน การให้บริการ Feeder ไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ หรือส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อการมีส่วนร่วมลดปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน ตลอดจนขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นเครือข่าย Work From Home เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในช่วงที่มีการคาดการณ์พยากรณ์ค่าฝุ่นสูง เพื่อช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนลงทะเบียนแล้ว 121 แห่ง และสนใจเข้าร่วม 102 แห่ง รวมจำนวนพนักงาน 47,677 คน
นอกจากนั้น กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจวัดควันดำรถบรรทุกขนาดใหญ่บริเวณท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีรถบรรทุกเข้าออกจำนวนมาก เพื่อควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันให้บริการตรวจบำรุงรักษารถยนต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลดราคาอะไหล่ น้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เป็นต้น ในช่วงที่มีค่าฝุ่นละอองสูงระหว่างเดือน พ.ย.66 – เม.ย.67 เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองจากยานพาหนะ
ขณะเดียวกันได้ดำเนินโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 300 เครื่อง ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 274 แห่ง และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศห้องเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 และ 2 โรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 1,734 ห้อง รวม 429 โรงเรียน รวมทั้งได้พัฒนาห้องปลอดฝุ่นร่วมกับกรมอนามัยภายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. 3 แห่ง ควบคู่กับการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนถึงอันตรายและวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กทม.ได้ติดตามเฝ้าระวังและรายงานแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศเพิ่มเติมผ่านช่องทางต่าง ๆ ประกอบด้วย แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. FB: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สสล. FB: กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok
กทม.แจงหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินยังเพียงพอ หากเพิ่มจำนวนอาจมีปัญหาการบริหารจัดการ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีมูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ ขอความเป็นธรรม ภายหลังได้รับหนังสือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ) ให้หยุดรับ-ส่งผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว พบว่า มูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ ได้ร้องขอเข้าร่วมระบบปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินกับศูนย์เอราวัณเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2564 ซึ่งศูนย์เอราวัณได้นำเข้าที่ประชุมตามขั้นตอนอนุมัติหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วนทุกครั้ง โดยที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบพื้นฐานและคณะกรรมการดำเนินการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีมติไม่ต้องการเพิ่มหน่วยปฏิบัติการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากหน่วยปฏิบัติการในระบบฯ มีเพียงพอ หากต้องเพิ่มหน่วยปฏิบัติการอื่น ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ
สำหรับแนวทางและขั้นตอนการขึ้นทะเบียนมูลนิธิในพื้นที่กรุงเทพฯ มีดังนี้ (1) ขึ้นทะเบียนเป็นมูลนิธิ หรือนิติบุคคลในพื้นที่กรุงเทพฯ (2) ประสานกับมูลนิธิที่อยู่ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ (3) ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ) ตรวจหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ตามข้อกำหนดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) (4) นำผลการตรวจหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เสนอคณะกรรมการอนุมัติหน่วย กทม.เพื่ออนุมัติหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (5) นำเสนอต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ (6) ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ) สั่งการให้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ
กทม.จัดสรรงบฯ ด้านการศึกษาปี 66 ครบ 100% เพิ่มงบฯ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน 500,000 บาท/โรงเรียน
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตโรงเรียนในสังกัด กทม.หลายเขตได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน รวมถึงความจำเป็นในด้านต่าง ๆ ว่า ในปีการศึกษา 2566 (ภาคเรียนที่ 2/2566 วันที่ 1 พ.ย.2566 – 31 มี.ค.2567) สนศ.ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตครบถ้วน 100% ตามที่สำนักงานเขตแจ้งจำนวนนักเรียนในระบบ Bemis ของ สนศ. ส่วนปีการศึกษา 2567 (16 พ.ค. 2567 – 31 มี.ค.2568) สนศ.ได้จัดสรรงบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือเรียนครบถ้วน 100% และรายการค่าจัดการเรียนการสอน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ค่าอาหารเสริม (นม) และค่าอาหารกลางวัน จัดสรรสำหรับภาคเรียนที่ 1/2567 ซึ่งงบประมาณครบถ้วนเพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอนก่อนเปิดภาคเรียน โดยใช้สถิติจำนวนนักเรียนในระบบ Bemis ณ วันที่ 10 มิ.ย.2566 หากโรงเรียนใดมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นได้ให้สำนักงานเขตถัวจ่ายงบประมาณในรายการเดียวกัน หากไม่เพียงพอให้ขอจัดสรรงบประมาณมาก่อนเปิดภาคเรียน
ส่วนกรณีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนในสังกัด กทม.ได้ดำเนินการในลักษณะสำนักงานเขต (ฝ่ายโยธา) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแล ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมบำรุงรักษาสภาพโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนในแต่ละสำนักงานเขตให้มีสภาพที่พร้อมต่อการเรียนและมาตรฐานความปลอดภัยต่อนักเรียน ครู และบุคลากร โดย สนศ.จะเป็นผู้กำกับติดตาม จากที่โรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 437 โรงเรียน มีอาคารเรียนและอาคารประกอบกว่า 1,600 อาคาร การบำรุงรักษาตามมาตรฐานการบำรุงรักษาที่ต้องดำเนินการเป็นประจำในทุกปี ตามหลักการบำรุงรักษาอาคารจะใช้งบประมาณสูงมาก ซึ่งผู้บริหาร กทม.มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดสรรงบประมาณในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน จำนวน 500,000 บาท/โรงเรียน/ปี ในแผนการดูแล ก่อสร้าง ปรับปรุง และซ่อมบำรุงรักษาสภาพโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว โดย สนศ.จะได้กำหนดแนวทาง มาตรฐาน และประเมินค่าซ่อมบำรุงรักษาให้เหมาะสมตามโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละโรงเรียน ปัจจุบันกำหนดเป็น Objective and Key Results (OKR) ของ สนศ. และสำนักงานเขตเรียบร้อยแล้ว
กทม.ตรวจตราลักลอบขโมยสายไฟ ป้องกันเหตุอันตรายกับประชาชน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุเด็กถูกไฟช็อตจากเสาไฟฟ้าริมถนนย่านรามอินทราว่า สนย.ได้ตรวจสอบพบว่า เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อคืนวันที่ 28 ธ.ค.66 (คืนวันลอยกระทง) จุดเกิดเหตุเป็นเสาไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะริมถนนคู้บอน เขตคลองสามวา บริเวณหน้าวัดคู้บอน ภายหลังเกิดเหตุ สนย.ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเสาไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะบริเวณถนนคู้บอน โดยใช้เครื่องมือตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วจากเสาไฟตลอดสาย ไม่พบว่า มีกระแสไฟฟ้ารั่วบริเวณเสาไฟฟ้า แต่พบว่า ประตูซ่อมบำรุงเสาไฟฟ้าแสงสว่าง (Service Door) สูญหายจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีสายไฟฟ้าหลุดออกมาจนเกิดเหตุดังกล่าว โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ได้บาดเจ็บ สนย.ได้เข้าเยี่ยมพร้อมพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของเด็ก อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว สนย.ได้ประสานขอความร่วมมือสำนักงานเขตพื้นที่ให้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตรา เพื่อป้องกันการลักลอบขโมยสายไฟ และขอความร่วมมือจากประชาชน หากพบเห็นโปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป
เขตบางขุนเทียนประสาน กฟน.แก้ไขผิวจราจร-ทางเท้าทรุดตัวบริเวณถนนเลียบด่วนตัดสะแกงาม
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีพื้นถนนเลียบด่วนตัดสะแกงามทรุดตัวเป็นวงกว้างว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันที่ 2 ธ.ค.2566 บริเวณทางหลวงหมายเลข 3902 ตอน พระประแดง – บางแค ที่ กม.13+440 อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของแขวงทางหลวงธนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟใต้ดินตามโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ตอน 1 โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
จากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุเกิดจากการเปิดฝาบ่อสำรวจความเสียหายของผู้รับจ้าง กฟน.ซึ่งได้วางชิ้นงาน (น้ำหนักประมาณ 25 ตัน) ไว้บนผิวทางเท้าที่เพิ่งดำเนินการก่อสร้าง ประกอบกับคืนที่ผ่านมาชิ้นงานดังกล่าวไม่สามารถจมให้ได้ระดับและไม่สามารถขนย้ายกลับโรงงานได้ จึงเกิดการทรุดตัวของทางเท้าและ Guide collar ฝั่งด้านเดียวกับทางเท้า ในเบื้องต้น กฟน.และผู้รับจ้างได้แก้ไขโดยสกัดผิวจราจรเดิมที่ทรุดตัว จากนั้นจะบดอัดชั้นทาง เสริมเหล็กและเทคอนกรีตคืนผิวจราจรชั่วคราว ส่วน Guide collar ที่ทรุดตัวจะแก้ไขด้วยการตั้งแบบหล่อคอนกรีตให้ได้ระดับเดิม เพื่อวางฝาบ่อพักชั่วคราวคืนสภาพการจราจร ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดการจราจรตามปกติแล้ว