กท.ตอ.ผนึกเอกชนลุย’ไม่เทรวม’

รวมพลังกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จับมือเอกชนสานต่อ “ไม่เทรวม” ให้ยั่งยืน

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ Chief Sustainability Officer (ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมความ ร่วมมือการจัดการขยะมูลฝอย “ไม่เทรวม” กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ณ โรงเรียน ลำพะอง (ราษฎร์จำเริญบำรุง) ถนนฉลองกรุง เขตลาดกระบัง

สำนักงานเขตลาดกระบัง มีพื้นที่ ทั้งหมด 123 ตร.กม. มีจำนวนประชากร 179,646 คน เป็นเขตที่กำลังขยายตัว ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นถัง ขยะตกค้าง และการลักลอบทิ้งขยะ ซึ่งปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องจัดเก็บเฉลี่ย 274 ตัน/วัน หรือ 8,339 ตัน/เดือน เพื่อลดปัญหาดังกล่าว สำนักงานเขตลาดกระบัง ร่วมกับ บริษัทสถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยในปี งบประมาณ พ.ศ.2566 ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ การจัดการขยะมูลฝอย (ขยะเปียก) บริเวณใต้ทางด่วนมอเตอร์เวย์ ถนนหลวงแพ่ง และศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย (ขยะแห้ง) บริเวณสถานี รีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ และดำเนินการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานโครงการลดขยะโดยการใช้แอปพลิเคชั่น Waste Buy เพื่อสร้างมูลค่าสู่ชุมชน สถานศึกษา และสถาน ประกอบการ โดยได้รับความร่วมมือจาก ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการ บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด สนับสนุนการพัฒนา นวัตกรรมด้วย Waste Buy แอปพลิเคชั่น “การซื้อขยะถึงบ้าน” ทำให้ปริมาณขยะลดลง รวมถึงสร้างรายได้ให้กับ ประชาชน ประกอบกับนโยบาย “ไม่เทรวม” ของผู้ว่าฯกทม. จึงเกิด ความร่วมมือในการจัดการขยะมูลฝอยของกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 9 เขต ได้แก่ ลาดกระบัง หนองจอก ประเวศ บางกะปิ คลองสามวา สะพานสูง มีนบุรี บึงกุ่ม และคันนายาว

นายพรพรหมกล่าวว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากทุกเขต และหน่วยงานภาคเอกชนที่ร่วมส่งเสริมการคัดแยกขยะจากต้นทาง ปีที่ผ่านมาขยะของกทม. ก็ลดลงเฉลี่ย วันละ 200-500 ตัน ทำให้ลดงบประมาณไป 141 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปสนับสนุนในด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ถือเป็นผลสำเร็จอย่างยิ่งไม่ใช่แค่ของกทม. แต่เป็นของทุกภาคส่วนที่ร่วมรณรงค์การแยกขยะด้วยกัน ถามว่าท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ กำหนดนโยบาย “ไม่เทรวม” ขึ้นมาทำไม หลักคิดไม่เทรวมง่ายๆ คือ แยกขยะ 2 ประเภท คือ “เปียก” กับ “แห้ง” เพราะชีวิตเราอาจไม่ได้มีเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้งสำคัญที่สุด แต่มีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายให้ต้องคิด การ ขอให้แยกขยะอย่างละเอียดอาจจะไม่ใช่เรื่องสะดวกสำหรับทุกคน การแยกขยะเปียก เศษอาหารกับขยะแห้งจึงเป็นเรื่องทำได้ง่ายที่สุด ซึ่งแค่การแยกขยะเปียกออกไปแล้ว ที่เหลือเป็นขยะแห้งที่สามารถแยกไปทำประโยชน์ต่อได้อีกมากมายซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย วันนี้ดีใจอย่างยิ่งที่กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออกได้สานต่อจากแค่ในมิติของการแยกขยะเปียกออกมา ต่อยอดสู่การจัดการขยะแห้งให้กลับคืนสู่ระบบ จัดการอย่างถูกวิธีและเข้าสู่กระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียน และ โครงการนี้ยังตรงกับแนวคิดผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ เราเริ่มก่อนจาก 1 เขต ว่าได้ผลดี หรือไม่อย่างไร จากนั้นค่อยขยายต่อไป สู่กลุ่มเขตและจะได้ขยายไปสู่ทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพมหานครต่อไป

ในการนี้มี นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล ผู้ช่วยปลัดกทม. นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนัก สิ่งแวดล้อม นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง และประธาน กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สถานีรีไซเคิลฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนสังกัด สำนักงานเขตลาดกระบัง ผู้ประกอบการ ร้านค้า ประธานกรรมการชุมชน คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนสังกัด สำนักงานเขตลาดกระบัง และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม

 

 

ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 1 ธ.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200