ผ่านระบบออนไลน์มากสุดลูกหนี้เผยรันทด-ดอกโหด สธ.คิกออฟช่วยบุคลากร 8ธค. ชาวนาก็ยิ้ม-แห่กดเงินไร่ละพัน
ประเดิมคึกคักลูกหนี้แห่ลงทะเบียนแก้หนี้ทั่วประเทศวันแรก 2.2 หมื่น ส่วนใหญ่ผ่านระบบออนไลน์ กทม.มากสุด 1.5 พันราย ตามด้วยสงขลาเกือบพัน เผยยอดหนี้พุ่งเกือบพันล้าน ลูกนี้เล่าชีวิตรันทด ต้องทุกข์หนี้สินท่วมหัว ไม่มีทางออก เสียดอกเบี้ยสุดโหดให้เจ้าหนี้ ดีใจรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ หวังจะทำได้สำเร็จ ‘อนุทิน’ย้ำเปิดลงทะเบียนแก้หนี้ ไม่ใช่’พักหนี้ ลดหนี้ ยกหนี้’ ชี้ไกล่เกลี่ยให้เป็นธรรม เจ้าหนี้ไม่ถูกเบี้ยว-ลูกหนี้ไม่ถูกรังควาน ด้าน ‘สธ.’ คิกออฟแก้หนี้บุคลากรในสังกัด เริ่มลงทะเบียน 8 ธ.ค.นี้
มท.เปิดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองเริ่มเปิดระบบให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ เช่นการถูกข่มขู่คุกคาม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกลไกของรัฐ โดยสามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง ผ่านระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือเดินทางไปลงทะเบียน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัดทุกแห่งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ส่วนของกรุงเทพฯ ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กำชับกรมการปกครองให้ดูแลระบบการลงทะเบียน ทั้งส่วนของออนไลน์ และวอล์กอินให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงดูแลคุ้มครองเรื่องความลับของข้อมูลผู้ลงทะเบียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่ กำลังเดือดร้อนและตัดสินใจหันหน้าเข้ามาพึ่งพาหน่วยงานรัฐในครั้งนี้
เปิด 5 ช่องทางลงทะเบียน
ด้านนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าขอเชิญชวนประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกดูหมิ่นในการทวงถามหนี้ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม หรือท่านที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขหนี้จากนอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ เพื่อที่จะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง สามารถลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบได้ 5 ช่องทาง ตั้งแต่วันนี้ ถึง 29 ก.พ.67 ดังนี้ 1.เว็บ debt.dopa.go.th, 2.แอพฯ ThaiID, 3.สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567, 4.ที่ว่าการอำเภอ และ 5.สำนักงานเขตทุกแห่งในกทม.
ขอนแก่นคึกแห่ลงทะเบียนหนี้
เมื่อเวลา 10.00 น.วันเดียวกัน ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่ภายในที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น มีประชาชนทยอยเดินทางเข้ามาลงทะเบียนอย่าง ต่อเนื่อง เพื่อจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ หลังจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก เจ้าหนี้ที่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมาย หลังจากกระทรวงมหาดไทยประกาศเปิดลงทะเบียนวันแรก โดยนายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่นและรักษาการปลัดจังหวัดขอนแก่น จัดเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะรอรับลงทะเบียนและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่จะให้เลือกแนวทางการแก้ไขปัญหา คือการหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ, การหาอาชีพเสริม และการเรียกเจ้าหนี้เข้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ย
ชายอายุ 58 ปี ชาวบ้านต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตนกู้ในระบบไม่ได้ จึงต้องกู้นอกระบบ เพราะเคยยื่นกู้ในระบบแล้ว แต่กู้ยากมาก กู้เท่าไหร่ไม่เคยได้ ไม่เคยผ่าน ตอนไปกู้นอกระบบเริ่มแรกด้วยเงิน 10,000 บาท ส่งวันละ 500 บาท เป็นเวลา 24 วัน ส่งทั้งต้นและดอก เริ่มกู้มาได้ประมาณ 7-8 เดือน เหตุผลความจำเป็นที่ต้องไปกู้มาเพราะไม่มีทุนที่จะนำมาค้าขาย ขายของยาก ไม่เหมือนเดิม รายได้และรายจ่ายไม่สมดุลกัน ตอนแรกกู้รายเดียว และหลังๆ ต้องกู้หลายราย ตอนนี้มีเจ้าหนี้ 6-7 ราย จ่ายสูงสุดวันละประมาณ 3,000 บาท เฉลี่ยทุกรายแล้วจะอยู่ประมาณนี้ต่อวัน และเงินที่นำมาจ่ายหนี้ทุกวันนี้จะนำเงินกู้จากรายหนึ่งไปจ่ายอีกรายหนึ่ง วนกันอยู่แบบนี้ รวมแล้วตอนนี้เป็นหนี้ประมาณ 80,000 บาท จากเริ่มต้นกู้ 10,000 บาท
“สำหรับการติดตามทวงถามหนี้แต่ละรายก็ต่างกันไป ช่วงแรกๆ ก็มีขู่บ้าง ถ้าไม่ได้เงินกลับไป ก็ไม่ยอม จะบังคับเอาให้ได้ แต่ไม่มีการขู่ทำร้ายร่างกายหรือเอาชีวิต อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือหาแหล่งเงินทุนในระบบมาให้กู้และจะได้นำเงินจำนวนนี้ไปจ่ายหนี้นอกระบบให้หมด จะได้หาเงินจ่ายแค่ในระบบจ่ายเป็นรายเดือนแบบนี้จะดีกว่า โครงการนี้ถ้าทำได้สำเร็จจริงๆ จะดีมาก จะช่วยเหลือประชาชนได้แบบดีมากๆ เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ว่าจะทำ แต่ก็ไม่สำเร็จ ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลนี้” ลูกหนี้นอกระบบกล่าว
โคราชแห่ลงทะเบียนผ่านแอพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะเพื่อรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามนนโยบายของรัฐบาลเป็นวันแรก ตั้งแต่เช้ามีลูกหนี้นอกระบบวอล์กอินมาลงทะเบียนแล้ว 2 ราย ขณะที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทะเบียนผ่านระบบแอพลิเคชั่น ThaiD ซึ่งช่วงเช้ามีผู้ลงทะเบียนผ่าน แอพลิเคชั่น ThaiD ประมาณ 60 ราย
ด้านนางแก้ว (นามสมมติ) อายุ 49 ปี ลูกหนี้นอกระบบที่วอล์กอินมาลงทะเบียนหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ตนมีอาชีพเป็นแม่บ้านอยู่ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ได้เงินเดือนประมาณ 9,000 บาท ในช่วงวิกฤตโควิดระบาดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ต้องหยุดงานหลายเดือน จึงไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยในครอบครัว จึงเลือกที่จะไปกู้หนี้นอกระบบ 40,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเงินจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เดือนละ 4,000 บาท จึงทำให้เงินต้นยังอยู่ครบ เนื่องจากไม่มีเงินก้อนมาปิดหนี้ จึงตัดสินใจมาลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในวันนี้ ตนอยากให้รัฐบาลช่วยให้เข้าถึงระบบธนาคารที่จะปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มลูกหนี้นอกระบบได้ไปกู้เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังเช่นนี้อีก
นครสวรรค์แห่ลงทะเบียน
ส่วนที่ จ.นครสวรรค์ ลูกหนี้นอกระบบนับร้อยรายเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เพื่อมาลงทะเบียนให้ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยลูกหนี้นอกระบบที่มาลงทะเบียนส่วนใหญ่จะกู้หนี้ยืมสินจากคนในพื้นที่ กู้หนี้ยืมสินมาจากใบปลิวตามถนน และกู้หนี้ยืมสินมาจากแก๊งหมวกกันน็อก เพื่อประกอบอาชีพทำนา ค้าขายทั่วไป โดยมีอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 5-20% ต่อเดือน หรือต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวัน ลูกหนี้บางรายโดนบุกถึงบ้านในยามค่ำคืน ซ้ำยังถูกข่มขู่ทำให้หวาดกลัวด้วย
นางเพ็ญ อายุ 49 ปี ชาวบ้าน ต.เกรียงไกร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ตอนนี้เอาที่ดินไปจำนองกับคนในพื้นที่มา 250,000 บาท เพื่อมาลงทุนทำนา ต้องจ่ายเดือนละ 6,000 บาท อยากจะให้ทางรัฐช่วยไกล่เกลี่ย เพราะบางเดือนส่งไม่ไหว ทุกวันนี้มีรายได้จากการรับจ้างเดือนละ 7,000 บาทเท่านั้น หากเราไม่มีเงินส่งดอกก็กลัวที่ดินจะถูกยึด
ด้านป้าอ้วน อาชีพค้าขาย กล่าวว่า ตนกู้หนี้นอกระบบมา 2 บัญชี แยกเป็นบัญชีแรก 3,000 บาท ได้เงินจริงๆ 1,800 บาท บัญชีที่สองกู้ 5,000 บาท ได้เงินจริงๆ 3,800 บาท ไม่รู้ว่าหักค่าอะไรบ้าง ตอนนี้ตนต้องหาจ่ายต้นและดอกรวมกันวันละ 300 บาท หากไม่จ่ายจะต้องถูกปรับอีกวันละ 50 บาท ซึ่งต้องปิดบัญชีให้ได้ 24 วัน บางครั้งไม่มีจ่ายรายวันเจ้าหนี้ก็จะไม่พอใจและมีการข่มขู่ด้วย อยากให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วย จะขอเงินกู้ธนาคารเพื่อไปปิดหนี้นอกระบบจะได้มีเงินเหลือเพื่อนำไปประกอบอาชีพต่อไป
ประจวบฯ ก็คึกคัก
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ชั้น 1 หน้าศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (หลังใหม่) อ.เมืองประจวบฯ ว่าที่พ.ต.อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตลอดทั้งวันมีประชาชนจำนวนมากมาลงทะเบียนหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้า
ด้านแม่ค้าผลไม้รายหนึ่งซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้นอกระบบเปิดเผยว่า ตนขายผลไม้ ช่วงแรกมีเงินหมุนทันกับรายจ่าย ต่อมาได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงต้องไปกู้ยืมเงินกับแก๊งเงินกู้นอกระบบอัตราร้อยละ 30 ต่อวันมาหมุนเวียน แต่ดอกสูงเกินไปทำให้จ่ายเงินกู้ที่ยืมมาไม่ยอมหมดสักที ทำงานค้าขายได้เงินมาก็ต้องจ่ายคืนให้กับเงินกู้ไปหมด จึงสนใจโครงการนี้และเดินทางมาขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของตนที่พอกเป็นหางหมูจำนวนมาก
ยอดลงทะเบียนวันแรก 2.2 หมื่น
ช่วงเย็น น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล กล่าวว่า มีประชาชนทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัดให้ความสนใจลงทะเบียนรวม 22,090 ราย ส่วนใหญ่เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 21,001 ราย วอล์กอิน 1,089 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 11,539 ราย ยอดหนี้รวม 935.31 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนสูงที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ กรุงเทพฯ 1,529 ราย เจ้าหนี้ 879 ราย ยอดหนี้รวม 78.48 ล้านบาท สงขลา 959 ราย เจ้าหนี้ 507 ราย ยอดหนี้รวม 55.36 ล้านบาท นครศรีธรรมราช 910 ราย เจ้าหนี้ 557 ราย ยอดหนี้รวม 27.64 ล้านบาท นครราชสีมา 822 ราย เจ้าหนี้ 351 ราย ยอดหนี้รวม 23.53 ล้านบาท และสมุทรปราการ 572 ราย เจ้าหนี้ 293 ราย ยอดหนี้รวม 23.70 ล้านบาท
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีการเปิดลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบวันแรกที่สำนักงานเขตของกทม.ว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องตัวเลขผู้มาลงทะเบียน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมีมาหลายรอบแล้ว แต่ปัจจุบันมีรูปแบบซับซ้อนมากขึ้น สัปดาห์ผ่านมาให้นโยบายกับ 50 สำนักงานเขตให้หาวิธีลงทะเบียนเจ้าหนี้ด้วย เป็นกระบวนการที่ทำคู่ขนาน
เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด กทม.มี 2,000 ชุมชน คิดว่าทุกคนรู้ว่าเจ้าหนี้รายใหญ่คือใคร หากทำเช่นนี้จะช่วยให้กระบวนการสั้นลง
“ขอเชิญชวนประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบให้มาลงทะเบียน เพราะไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว มีแต่จะดีขึ้น เราเป็นหนี้นอกระบบชีวิตเราก็แย่พออยู่แล้ว แสดงว่าชีวิตถึงทางตัน จึงต้องให้ภาครัฐมาช่วย เชื่อว่าภาครัฐจะเก็บเป็นความลับ ไม่นำข้อมูลไปเผยแพร่ เชิญชวนประชาชนไปลงทะเบียนในทุกเขตทุกจังหวัด ข้อมูลจะได้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ข้อมูลที่อยู่นอกระบบก็มาอยู่ในระบบ” นายชัชชาติกล่าว
‘หนู’ชี้ไม่ใช่’พักหนี้-ลดหนี้-ยกหนี้’
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดให้ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนรับการช่วยเหลือจากกลไกของรัฐเป็นวันแรกว่า วิธีการลงทะเบียนมี 3 ทาง คือ ลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ในศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ และทางอำเภอจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจในชุมชนและพื้นที่ เพื่อให้ขาดตกบกพร่องน้อยที่สุด และการเปิดลงทะเบียนวันแรก คงยังไม่ต้องรายงานอะไร เพราะเป็นงานออนไลน์ เมื่อส่วนราชการได้รับนโยบายไปแล้วก็ต้องปฏิบัติ โดยมีอธิบดีหรือปลัดกระทรวงคอยกำกับดูแล
ผู้สื่อข่าวถามกรณีเจ้าหนี้อาจไม่กล้ามาแสดงตัวไกล่เกลี่ย เนื่องจากเกรงว่าจะมีการถูกตรวจสอบจากสรรพากร จะดำเนินการอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า เรารู้อยู่แล้วว่าใครเป็นใคร ที่รัฐบาลต้องการทำเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การลดหนี้ พักหนี้ หรือยกหนี้ ถ้าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเป็นธรรมในอัตราที่ลูกหนี้หามาใช้ได้ ลูกหนี้ก็ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้โดยไม่ต้องใช้วิธีทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องกดดัน กดขี่ข่มเหงรังแกใคร
เมื่อถามย้ำว่าหากเจ้าหนี้ไม่ยอมมาพูดคุยไกล่เกลี่ย จะทำอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ต้องเอาสัญญามาดู ถ้าสัญญาตรงไหนขัดต่อกฎหมายก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม เราต้องคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรม ยกตัวอย่าง เจ้าหนี้เพลิดเพลินกับการคิดดอกเบี้ยสูง เกินความสามารถลูกหนี้จะชำระได้ ก็จะมีแต่แพ้กับแพ้ แต่เราต้องการให้วินวินทั้งคู่ คือเจ้าหนี้ได้เงินต้นคืน ดอกเบี้ยได้ตามสมควร ไม่มีการเบี้ยวหนี้ ลูกหนี้ไม่ถูกกดขี่ข่มเหงรังแก รังควาน
เมื่อถามว่าตั้งเป้าจะเห็นผลชัดเจนในเวลากี่เดือน นายอนุทินกล่าวว่า ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นประธานคิกออฟมอบนโยบายในเรื่องนี้ ที่เมืองทองธานี
สธ.คิกออฟแก้หนี้จนท.
ด้าน น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มอบนโยบาย “แก้หนี้ เสริมกำลังใจให้คนสาธารณสุข” ไปยังบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ถือเป็นวันคิกออฟ เริ่มต้นเดินเครื่องกระบวนการ “ปลดหนี้ เพื่อชีวีเป็นสุข” คืนอิสรภาพและความหวังที่ถูกพรากไป เพื่อให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขมีขวัญกำลังใจปฏิบัติงานดูแลคนไทยให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี สำหรับหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงผิดปกติได้สร้างภาระบีบคั้นกับบุคลากรสาธารณสุขอย่างมาก ซึ่งนพ.ชลน่านมีความห่วงใยและได้วางนโยบายไว้ว่าจะต้องปลดทุกข์เรื่องนี้ให้ได้ โดยตั้งคณะทำงานเจรจาหาทางออกระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับธ.ออมสิน จัดให้มีคลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงินทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในโรงพยาบาลทุกระดับและประกาศอย่างชัดเจนว่า ลูกหนี้ที่อยู่ในภาวะวิกฤตจะเร่งช่วยเหลือโดยเร่งด่วน สถาบันทางการเงินจะเข้ามามีส่วนแก้ปัญหา
“บุคลากรสาธารณสุขนอกจากประกอบด้วยวิชาชีพด้านการแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและอื่นๆ แล้ว ยังรวมถึงข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานกระทรวง พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างโครงการ ตลอดทั้งอาสาสมัครด้านสาธารณสุข แม้โดยทั่วไปจะมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยจะเปิดให้ ลงทะเบียนในวันที่ 8 ธ.ค.เป็นวันแรก คาดว่าจะมีบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก” น.ส.ตรีชฎากล่าว
บรรยายใต้ภาพ
รอยยิ้มชาวนา ชาวนาโคราชเข้าคิวกดเงินช่วยเหลือไร่ละพัน ที่รัฐบาลโอนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ยิ้มแย้มแจ่มใส ขณะที่ชาวนาทั่วทุกจังหวัดก็แห่ไปกดเงินช่วยเหลือครั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.
ลงทะเบียน ประชาชนเดินทางเข้ามาลงทะเบียนในวันแรกอย่างต่อเนื่อง ร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ศาลากลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่จุดรับลงทะเบียนทั่วประเทศเป็นไปอย่างคึกคัก เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 2 ธ.ค. 2566