77จุดพุ่งเกินมาตรฐาน-หมอแนะ’เวิร์กฟรอมโฮม’
คพ. – เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 พ.ย. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ระหว่าง 5.1 – 56.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ค่าเฉลี่ย 24 ช.ม. ค่ามาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานรวม 91 พื้นที่
คพ.รายงานต่อว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจพบค่าฝุ่นระหว่าง 33.1 – 56.3 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 77 พื้นที่ สูงสุดที่ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 56.3 มคก./ลบ.ม., ส่วนจ.สมุทรสาคร ที่ต.มหาชัย อ.เมือง, ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน, จ.สมุทรปราการ ที่ต.ปากน้ำ อ.เมือง, ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง, จ.ปทุมธานี ที่ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง, จ.นนทบุรี ที่ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด, ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง และจ.นครปฐม ในพื้นที่อ.เมือง
ทั้งนี้ คพ.ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค.นี้ คาดมี แนวโน้มค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาปกคลุม และลมสงบ ทำให้ฝุ่นเริ่มสะสมในพื้นที่
ด้านรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยจากภัยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ว่า แม้สถานการณ์ฝุ่นยังไม่มาก แต่ก็เริ่มพบผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจมากขึ้นบ้าง เช่น อาการภูมิแพ้กำเริบ โรคผิวหนัง โรคหอบหืด โรคเกี่ยวกับ โพรงจมูกกำเริบ แต่ยังเป็นช่วงสั้นๆ ฉะนั้นตอนนี้ยังไม่ใช่จุดที่เป็นปัญหามาก แต่เพิ่งจะเริ่มขึ้น กลุ่มที่น่าเป็นห่วงยังคงเป็นกลุ่มเดิมคือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง
เมื่อถามถึงมุมมองของการรับมือปัญหาฝุ่นของ กทม. รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดเห็นว่ามาตรการจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เกาไม่ถูกที่คัน เช่น การจำกัดพื้นที่การวิ่งของ บ.ข.ส.จากต่างจังหวัด ที่ไม่ให้วิ่งเข้ากทม. การตรวจจับฝุ่นควันจากรถบรรทุก ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนน้อยของการเกิดปัญหาฝุ่น เพราะปัญหาหลักของฝุ่นในกทม. คือ คนส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนตัว
เมื่อถามต่อว่ามาตรการที่ควรนำมาใช้ในพื้นที่กทม. ควร เป็นอย่างไร รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า ต้องใช้มาตรการ เวิร์กฟรอมโฮม (Work from home) การจำกัดพื้นที่รถเข้าออกในบางช่วงเวลาเหมือนในต่างประเทศใช้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นรถไฟฟ้าได้มากพอ ต้องหามาตรการอื่นมารองรับ
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 30 พ.ย. 2566