Search
Close this search box.
กทม. เปิดตัวยุทธศาสตร์ City of Food มุ่งสร้างความเสมอภาค มีคุณภาพ และยั่งยืนด้านอาหารสำหรับทุกคน

(28 พ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดตัวนโยบายอาหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566-2570 ตามเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน เขตบางรัก โดยมี นายเดวิด เดลี (Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายเปาโล ดิโอนิซี (Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย นางสาวอันนา สคาวุซโซ (Ms. Anna Scavuzzo) รองนายกเทศมนตรีนครมิลาน นายพาโบล กานดารา (Mr. Pablo Gandara) หัวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างเมืองและภูมิภาคนานาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเชีย (โครงการ IURC Asia and Australasia) นายฟิลิปโป กาวาสเซนี (Mr. Filippo Gavazzeni) หัวหน้าสำนักงานเลขานุการเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (MUFPP) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer: CSO) และผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธีเปิด

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเปิดตัวนโยบายอาหารฯ ว่า เรื่องอาหารเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในเมืองมีการบริโภคอาหาร เกิดอาหารเหลือ เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เกิดเรื่องคุณภาพอาหาร เป็นมิติที่อาจไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ความร่วมมือวันนี้เริ่มจากที่กรุงเทพมหานครมีความร่วมมือกับเมืองมิลานที่ได้มีการประชุมเรื่องนโยบายอาหารของเมือง โดยมีเมืองเครือข่าย 200 กว่าเมือง พอกรุงเทพมหานครเข้าร่วม ทาง EU ได้ให้เงินสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครทำนโยบายอาหารกรุงเทพมหานครเหมือนกับมิลาน เป็น Bangkok Food Policy เน้นความเท่าเทียม คุณภาพ และความยั่งยืน มีนโยบาย 7 ด้าน ได้แก่ เสริมความเข้มแข็งการผลิตอาหารในเมือง สร้างมาตรฐานตลาดและจุดกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ยกระดับสถานประกอบการอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ธนาคารอาหารและส่วนลดค่าอาหาร จัดการขยะอาหารเป็นระบบครบวงจร ส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการสำหรับเด็กและประชาชน และหลักธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีนโยบายอาหารของกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือที่จะแลกเปลี่ยนกันได้ เช่น เรื่องธนาคารอาหาร ซึ่งจะมีการดำเนินการเป็นต้นแบบในบางเขตก่อน โดยเริ่มที่เขตห้วยขวางแล้วค่อยขยายไปเขตอื่น ตอนนี้ที่เขตห้วยขวางมีการทำศูนย์ที่มารับอาหารได้ ต่อไปจะมีการพัฒนาเป็นดิจิทัลให้เป็นเครดิตหรือเป็นแต้มให้คนที่ต้องการสามารถเข้ามาชอปปิ้งและหักแต้มไปเหมือนไปซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเขตจะเป็นคนดูว่าใครที่จะได้รับสิทธิ์หรือแต้มตรงนี้

ทั้งนี้ นโยบายอาหารเป็น 1 ใน 8 ด้าน ของเป้าหมายการผลักดันความยั่งยืนเมือง ประกอบด้วย 1. ขยะ 2. ขนส่ง 3. พื้นที่สีเขียว 4. พลังงาน 5. อากาศ 6. น้ำ 7. อาหาร 8. บริหารจัดการและเศรษฐกิจสีเขียว

สำหรับกิจกรรมการเปิดตัวนโยบายอาหารฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. การนำเสนอนโยบายอาหารของกรุงเทพมหานคร เป็นการนำเสนอกระบวนการการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครที่ผ่านการประสานความร่วมมือจากเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Urban Food Policy Pact : MUFPP) และ International Urban and Regional Cooperation Asia and Australasia : IURC Asia and Australasia) ของสหภาพยุโรป นำไปสู่การร่างนโยบายอาหารกรุงเทพมหานคร เพื่อไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเมืองสมาชิก MUFPP เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยเครือข่ายภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างกัน 2. การเสวนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เป็นการอภิปราย และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการอาหารของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเร่งรัดการดำเนินงานของเมืองและการนำนโยบายด้านการบริหารจัดการอาหารครบวงจรของเมืองไปปฏิบัติ โดยมีประเด็นหลักเรื่องธนาคารอาหาร อาหารส่วนเกิน การจัดการขยะอาหาร อาหารโรงเรียน และอาหารปลอดภัย สู่การดำเนินโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ 3. การศึกษาดูงานการดำเนินงาน District Food Management Sandbox ได้แก่ 1) การเยี่ยมชม BKK Food Bank Huai Khwang District Model ของสำนักงานเขตห้วยขวาง เป็นการนำเสนอการบริหารจัดการอาหารในพื้นที่เขต การจัดทำโครงการ Food Bank การดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายตามแนวคิด “บวร” ได้แก่ วัดพระราม 9 เฉลิมพระเกียรติ ชุมชนในพื้นที่ และโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร และเป็นต้นแบบอาหารสำหรับนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างยั่งยืน 2) การเยี่ยมชม District Food Management Sandbox ของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ เป็นการนำเสนอการบริหารจัดการอาหารของเขตซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องธุรกิจร้านอาหาร และการบริหารจัดการอาหารร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การจัดทำ Food Bank และการพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เขตชั้นในที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร
——————————- (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200