Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566

กทม.ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่-จับมือภาคีเครือข่ายดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 ที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้ดำเนินการป้องกันและดูแลสุขภาพประชาชนจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยแจกหน้ากากอนามัย รณรงค์ให้ความรู้ คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ประชาชนทั่วไป และเด็กนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และสร้างการมีส่วนร่วมการลดฝุ่นละอองผ่านช่องทางต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้เฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ พร้อมทั้งจัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 – 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกัน 3 วัน โดยให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้ดำเนินการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง และแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง รวมถึงรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากนั้น ยังได้จัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ.ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชน โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. และคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. ดังนี้ รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.063 324 11216 หรือ 099 170 5879 และ รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434

08:57 นุ่น กทม.พร้อมขับเคลื่อนนโยบายแก้หนี้นอกระบบ เตรียมพร้อมรับลงทะเบียนที่สำนักงานเขต 1 ธ.ค.นี้

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบของ กทม.เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สพส.ในฐานะหน่วยงานที่มีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจครัวเรือนของประชาชนกรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว อาทิ จัดทำโครงการรู้ใช้ รู้เก็บ คนกรุงเทพฯ ชีวิตมั่นคง เพื่อสร้างศักยภาพของคนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการออมในทุกช่วงวัย เพื่อความมั่นคงทางรายได้ อยู่อย่างสมศักดิ์ศรีในสังคมสูงวัย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะต้องส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจการเงิน ส่งเสริมวินัยการออม การบริหารรายได้ โดยกำหนดจัดการฝึกอบรมให้แก่นักบริหารเงินออมของสำนักงานเขต 50 สำนักงานเขต เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือประชาชนในการให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการออม และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยโครงการรู้ใช้ รู้เก็บ คนกรุงเทพฯ ชีวิตมั่นคง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สินกรุงเทพมหานคร ดำเนินการในสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อให้บริการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนด้านการวางแผนทางการเงิน การบริหารจัดการรายได้ การสร้างวินัยทางการออมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน การเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุอย่างมีความสุข ตลอดจนสนับสนุนกระบวนการเครือข่ายกลุ่มทุกประเภท เพื่อสร้างองค์กรภาคประชาชนที่เข้มแข็งนำไปสู่การช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 ได้รวบรวมผลการดำเนินงานจากสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และประเมินผลการดำเนินงาน มีประชาชนเข้ามาใช้บริการศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว จำนวน 88,435 คน

นอกจากนั้น ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเสริมความรู้ด้านภัยทางการเงิน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงภัยทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านนักบริหารเงินออมของสำนักงานเขต 50 เขต กองทุนการออมแห่งชาติ โดยออกหน่วยรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงิน การออมเงินให้กับผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมและแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้ง 50 สำนักงานเขต นักเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม.และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ ทั้งนี้ สพส.ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมและประสาน 50 สำนักงานเขต เข้าร่วมประชุม เพื่อรับมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขหนี้นอกระบบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายเศรษฐา ทวีสิน) ในวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค.66 รวมทั้งเตรียมความพร้อมการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66

นางละไม อัศวเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) กทม. กล่าวว่า สปท.ได้ประสานศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย (มท.) ถึงรายละเอียดการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร จะขอให้สำนักงานเขตรับลงทะเบียน โดยกำหนดจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 30 พ.ย.66 เพื่อชี้แจงแนวทางการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ได้ประสานสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ประชาสัมพันธ์การขอรับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 เป็นต้นไป โดยสามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หรือติดต่อลงทะเบียนด้วยตนเองที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้จดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

กทม.เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังลักลอบเปิดบ่อทิ้งขยะเถื่อนในพื้นที่

นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนผ่านตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้รับความเดือดร้อนจากการลักลอบเปิดบ่อรับทิ้งขยะเถื่อนในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.66 จากนั้นได้ตรวจติดตามพบว่า มีการปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้รถยนต์เข้า-ออก ส่วนการเข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 22 พ.ย.66 สำนักงานเขตฯ ได้รับทราบข้อมูลจาก บก.ปทส.ว่า พบการปิดกั้นทางเข้า-ออก แต่มีรถ 4 ล้อเล็กมาจอดบริเวณทางเข้า-ออก และมีชายไม่ทราบชื่อเปิดทางเข้าให้รถยนต์คันดังกล่าว โดยตำรวจ ปทส.ได้สอบถามข้อมูลทราบว่า ชายดังกล่าวเข้ามาค้นเก็บของเก่าในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นได้ให้คนขับรถบรรทุกสแกนคิวอาร์โค้ด พบว่า เป็นของบุคคลรายหนึ่ง จึงดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลรายดังกล่าวในความผิดฐาน “รับทำการกำจัดมูลฝอยโดยทำเป็นธุรกิจ หรือโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ และไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เรียบร้อยแล้ว

นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมตรวจสอบพื้นที่ 2 จุด ดังนี้ จุดแรกคือ บริเวณที่ว่างระหว่างซอยหทัยราษฎร์ 23-25 พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการถมที่ดิน โดยมีเจ้าของร่วม 2 คน ขณะตรวจสอบ พบผู้ดูแลพื้นที่เข้าถมที่ จึงได้สั่งให้หยุดดำเนินการ พร้อมแจ้งหากประสงค์จะถมที่ให้ขออนุญาตตามกฎหมายและห้ามไม่ให้นำขยะมาถมโดยเด็ดขาด ขณะนี้อยู่ระหว่างออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น จุดที่สองคือ บริเวณที่ดินใกล้กับโรงเรียนคลองสองต้นนุ่น ซอยร่มเกล้า 6 เป็นที่ดินที่มีเจ้าของร่วม 8 คน ได้นำดิน เศษวัสดุก่อสร้าง และขยะมาถมที่ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้มีคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้แก้ไข เพื่อระงับเหตุรำคาญแล้ว และให้ระงับการถมที่จนกว่าจะได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามนำขยะมาทิ้งในพื้นที่โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและเข้มงวดหมั่นออกตรวจสอบรถบรรทุกของเอกชนที่มีการขนดินและขนย้ายขยะไปทิ้งในพื้นที่เขต เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดต่อไป

นายสมพร มีหาดทราย ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณท้ายซอยนวมินทร์ 71 แขวงนวมินทร์ พบว่า มีการลักลอบเปิดเป็นบ่อรับทิ้งขยะเถื่อน โดยไม่ได้รับอนุญาต มีเนื้อที่ 300 ตารางวา ซึ่งเจ้าของพื้นที่ได้เปรียบเทียบปรับกับทางศาลเรียบร้อยแล้ว ในเบื้องต้นสำนักงานเขตฯ ได้ให้คำแนะนำโดยห้ามมิให้เจ้าของที่ดินนำขยะทุกชนิดมาทิ้ง หรือถมในบริเวณดังกล่าว และให้เจ้าของที่ดินปรับสภาพดินโดยให้ฝังกลบขยะ เพื่อป้องกันมิให้ขยะส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดฝุ่นละออง หรือเกิดน้ำชะขยะ สร้างความเดือดร้อนรำคาญรบกวนผู้พักอาศัยใกล้เคียง ซึ่งเจ้าของที่ดินได้แจ้งว่า จะไม่นำขยะมาถมในบริเวณดังกล่าวอีก และจะปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของสำนักงานเขตฯ นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ได้มีมาตรการตรวจสอบการแปลงสภาพที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันมิให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบรถบรรทุกของเอกชนที่ขนย้ายขยะไปทิ้งในพื้นที่เขตอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะตรวจสอบเป็นระยะ หากพบการกระทำความผิดซ้ำจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200