‘ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร’ ปัจจุบันยังคงสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และพบว่าที่ดินของประชาชนหายไปประมาณ 900-1,200 เมตร วัดจากตำแหน่งหมุดหลักของเขตกรุงเทพมหานครในทะเล ถนนที่เคยสัญจรก็หายไปมีผืนน้ำทะเลเข้ามาแทนที่ ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนในการสัญจรต้องใช้การเดินเท้า รถจักรยานยนต์ จักรยาน และเรือตามเวลาน้ำขึ้น-ลง กระทบต่อการประกอบอาชีพการเดินทางไปโรงเรียน การขนส่งสินค้าและสภาวะฉุกเฉิน อาจไม่สามารถย้ายคนออกจากพื้นที่ได้ทันเวลา
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กล่าวถึงแนวทางป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน ว่า เบื้องต้นสำนักงานเขตสนับสนุนการปลูกต้นโกงกางริมชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนตลอดแนวได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ ซึ่งเขตมีต้นโกงกางรองรับสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์รักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีพื้นที่ปลูกเหลืออีกหลายแปลงสำหรับการปลูกใช้วิธีปลูกในท่อซีเมนต์ขนาดกว้าง 6 นิ้ว สูง 1-3 เมตร เพื่อยึดเหนี่ยวต้นโกงกางจากความแรงของคลื่น และช่วยยกต้นกล้าให้พ้นน้ำตามลักษณะธรรมชาติสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล วิธีดังกล่าวมีอัตราการรอดร้อยละ 80-90
ที่ผ่านมามีหน่วยงานเอกชนสนับสนุนท่อซีเมนต์กว่า 25,000 ท่อ โดยสำนักงานเขตต้องคอยเติมเลนในท่อซีเมนต์ให้กับต้นโกงกาง เปลี่ยนไม้ค้ำพยุงอย่างต่อเนื่อง และมีแผนปลูกให้เต็มพื้นที่ เพื่อชะลอความแรงของคลื่น เพิ่มตะกอนทับถมจนเป็นพื้นดินใหม่ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2559 – 2566 มีการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นบริเวณแนวชายฝั่ง ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้ 233 ไร่ และเกิดดินตะกอนสะสมหลังแนวไม้ไผ่สูงขึ้นประมาณ 80-120เซนติเมตร ทำให้บริเวณแนวสะพานมีพื้นดินทับถมสูงขึ้นจากเดิม 50 เซนติเมตร
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.)เผยว่า บริเวณใต้แนวคลองโล่งถึงชายฝั่งทะเล เขตบางขุนเทียนเป็นพื้นที่แห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ยังมีการทำประมงชายฝั่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อย มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศและอาหารทะเล ปัจจุบันประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้ที่ดินของประชาชนหายไปประมาณ 900-1,200 เมตร
จากนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ต้องการส่งเสริมการจัดที่ดินในบริเวณที่เหมาะสมจึงเสนอแนวทางจัดรูปที่ดินต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานกรรมการ เพื่อบรรเทาปัญหาประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยการลงพื้นที่สำรวจรับฟังปัญหาประชาชน และสร้างความเข้าใจกับเจ้าของที่ดินในการจัดรูปที่ดินใหม่ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี จึงได้มีการประชุมเจ้าของที่ดิน เพื่อตกลงในการแบ่งสรรปันส่วนและสละที่ดินของตนเองให้กับสาธารณประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการขายที่ดินบางส่วนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างดำเนินการระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนนโครงสร้างพื้นฐาน การระบายน้ำ ตลอดจนการถมดิน สร้างสวนสาธารณะ ภายใต้พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่พ.ศ. 2547
ด้าน นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน กล่าวว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายชายฝั่งบางขุนเทียน มีความพยายามแก้ไข และป้องกันเรื่อยมา โดยชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียนมีเนื้อที่ป่าชายเลนหายไปประมาณ2,735 ไร่ เหลือประมาณ 200-300 ไร่ด้านติดทะเล (อ่าวไทย) ที่มีการกัดเซาะมีความยาวประมาณ 4,764.94 เมตร ทำให้ที่ดินลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่หลักเขตที่ 28 ชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ถึงหลักเขตที่ 29 ชุมชนเสาธง
“ที่ผ่านมามีการปักแนวไม้ไผ่ป้องกันคลื่นระยะห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตรแต่ไม่ยั่งยืน พบปัญหาไผ่ผุพังกลายเป็นขยะลอยน้ำ กทม. จึงจัดสรรงบประมาณร่วมกับได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ก่อสร้างเขื่อนถาวรกันคลื่นตลอดแนวประมาณ 5 กิโลเมตร ในพื้นที่รับผิดชอบของ กทม. โดยก่อสร้างลักษณะเว้นช่วงเพื่อให้สัตว์น้ำได้เข้าถึงชายฝั่งหลังเขื่อนได้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 หากไม่ติดปัญหาผู้รับจ้างโครงการตามขั้นตอน”
จากการรับฟังปัญหาชาวบ้านในพื้นที่พบว่า แต่เดิมเสาสะพานตั้งอยู่บนดินปัจจุบันถูกน้ำเซาะทำให้คลองกว้างขึ้น มีพื้นที่น้ำมากขึ้น พื้นดินน้อยลง รวมถึง พบปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้าไปถึงเขตชั้นใน ทำให้การเดินทางออกจากพื้นที่ในช่วงดังกล่าวยากลำบาก ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มีถนนสัญจร นอกจากนี้ ในอดีตที่ผ่านมาพบปัญหาน้ำเสียที่มากับแม่น้ำ 4 สาย คือแม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลองไหลลงสู่อ่าวไทย ทำให้พื้นที่บางขุนเทียนส่วนที่ติดทะเลได้รับผลกระทบ เช่น สีของน้ำเป็นฟองแดงผิดปกติ สัตว์น้ำที่เคยมีน้อยลงและบางชนิดหายไป เช่น หอย ปลาเสือ ปลาบู่กั้งตัวใหญ่ และกุ้ง ที่ผ่านมามีการสนับสนุนปลูกป่าโกงกาง แต่เมื่อปลูกแล้วไม่มีผู้ดูแลทำให้ต้นโกงกางลอยไปกับน้ำ จึงแก้ไขโดยการปลูกใส่ท่อซีเมนต์ยึดไว้ใต้น้ำ หากมีการสร้างเขื่อนป้องกันร่วมด้วย เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาเรื่องน้ำทะเลกัดเซาะได้ แต่ปัญหาน้ำทะเลหนุนยังต้องหาทางแก้ต่อไป
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2566