ศศวัชร์ คมนียวนิช
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่งในปีนี้
ลอยกระทงไม่หลงทาง พุทธศักราช 2566
ตรงกับค่ำคืนนี้ 27 พฤศจิกายน
แม้ก่อนหน้านี้มีกระแสยกเลิกลอยกระทงในโลกออนไลน์ จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม
แต่ในโลกความจริง คาดการณ์ว่า ลอยกระทงปีนี้ เงินจะสะพัดแรงมาก แตะ 1 หมื่นล้านครั้งแรกในรอบ 8 ปี ตามการคาดการณ์ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่าง วันที่ 14-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับบรรยากาศเตรียมอีเวนต์ทั่วไทยก็สุดคึกคัก ยิ่งกระแสออเจ้า ‘พุดตาน’ ร่วมประเพณี ‘จองเปรียง’ กับ ‘พ่อริด’ จากละคร’พรหมลิขิต’ ทำฟินทั้งประเทศ
ธุรกิจชุดไทยให้เช่าที่ซบเซาไปพักหนึ่งก็ฟื้นตัวซู่ซ่า โดยเฉพาะในแผ่นดินอยุธยา หน้าวัดไชยวัฒนารามตามระเบียบ
หันมาดูความพร้อมสำหรับคืนนี้ ณ บางกอก กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรที่เฉลิมฉลองกันทุกเทศกาล
ทีมพ่อเมือง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ย้ำเข้มความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อมีบทเรียนจากปี’65 กรณีความแออัดบน ‘สะพานพระราม 8’ จนปีนี้มีการติดกล้องวงจรปิดถึง 37 ตัว
ส่วน ‘คลองโอ่งอ่าง’ อีกจุดสำคัญ ห้ามจุดพลุเด็ดขาด ขณะที่ในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการจัดเรือลาดตระเวนตรวจตราละเอียดลออ
ปลอดภัยอันดับ 1 ติดกล้อง 37 ตัว ทั่วพระราม 8
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าว เทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 โดยเผยว่า หลายประเทศทั่วโลกล้วนมีเทศกาลสำคัญ ส่วนกรุงเทพฯ มี 2 เทศกาลสำคัญ คือ Winter Festival หรือเทศกาลลอยกระทง และ Water Festival หรือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งทั้ง 2 งาน กทม.ร่วมจัดงานกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งที่คนจะนึกถึงเป็นอันดับแรกของทั้งสองเทศกาล คือ เรื่องของการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย เรื่องของปัญหาความปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อม
นั่นจึงเป็นที่มาแนวคิด 3 ปลอด คือ 1.ปลอดจากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% 2.ปลอดจากประทัด โคมลอย พลุ และ 3.ปลอดอันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ในเรื่องของความปลอดภัยจากโป๊ะและท่าเรือที่ไม่แข็งแรง ทางด้าน ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. ได้สั่งการให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ขอให้ประชาชนดูป้ายแจ้งเตือนห้ามใช้งานของโป๊ะและท่าเรือที่ไม่แข็งแรง ส่วนท่าเรือหรือโป๊ะที่สามารถใช้งานได้ จะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ และ สปภ.คอยอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย
นอกจากนี้ กทม.ยังออกประกาศเรื่องมาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันในช่วงวันลอยกระทง ห้ามมิให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย หากฝ่าฝนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะดำเนินการกวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝนอย่างเข้มงวด ตรวจสอบผ่านกล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริเวณสะพานพระราม 8 จะมีกล้อง CCTV จำนวน 37 ตัว
รวมถึงควบคุมระเบียบจัดลำดับคิวของผู้ลอยกระทงให้ปลอดภัย และมีการควบคุมจำนวนคนในแต่ละโป๊ะและท่าเรือ โดยจะมีการดูแลเป็นพิเศษในจุดที่จัดงานใหญ่ และคาดว่าจะมีประชาชนร่วมงานจำนวนมาก อาทิ สะพานพระราม 8 คลองโอ่งอ่าง การจัดงานของกระทรวงวัฒนธรรม ที่วัดอรุณราชวรารามฯ และการจัดงานของรัฐบาลที่คลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น
บก-น้ำ ย้ำเข้ม ดับเพลิง กู้ชีพ (เรือ) ลาดตระเวนพร้อม!
ความพร้อมของ กทม.ในการดูแลความปลอดภัยทั้งทางบก และทางน้ำในเทศกาลลอยกระทง สปภ.ร่วมกับสำนักการแพทย์ จัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.9 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือเจ็ตสกี จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลวชิระ จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ กู้ภัยทางน้ำ
ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงสะพานตากสิน ประกอบด้วยเรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลตากสิน จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลเจริญกรุง จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ทั้งนี้ พื้นที่ลอยกระทงบริเวณสวนสาธารณะและริมคลอง รวมถึงจุดท่าเทียบเรือและโป๊ะ จะจัดเจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย พร้อม รถดับเพลิง รถไฟส่องสว่าง ถังดับเพลิงและอุปกรณ์ช่วยชีวิต ประกอบด้วย เสื้อชูชีพ ห่วงยางช่วยชีวิต เชือกช่วยชีวิตไว้ด้วย
แค่ตั้งจิตอธิษฐาน กระทงดิจิทัล คลองโอ่งอ่าง
อีกประเด็นน่าสนใจ แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว นั่นคือการ ลอยกระทงดิจิทัล โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ กทม.เชิญชวนประชาชนลอยกระทงดิจิทัลกลางคลองโอ่งอ่าง รณรงค์แนวคิดการลอยกระทง ในรูปแบบใหม่ เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม ชมกระทงแบบดิจิทัลบน พื้นผิวน้ำคลองโอ่งอ่าง ผ่านโปรเจ็กเตอร์ขนาดใหญ่ พร้อมกิจกรรมการแสดง Street Performance และชิมอาหารย้อนยุค บริเวณเชิงสะพานบพิตรพิมุข คลองโอ่งอ่าง โดยผู้ที่มาร่วมงานไม่ต้องนำกระทงมาเอง เพียงแต่ต้องนำโทรศัพท์มือถือติดตัวมาด้วยเพื่อร่วมระบบลอยกระทง
“บางท่านอาจจะลอยกระทงอยู่ที่บ้านได้ผ่านระบบออนไลน์ หรือเลือกที่จะลอยปัญหาที่ต้องการแก้ไขมาให้ กทม.ช่วยดูแลได้ผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งจะมีการเพิ่มฟีเจอร์เข้าไปในเร็วๆ นี้” ศานนท์กล่าว
พูดง่ายๆ คือ การลอยกระทงในทราฟฟี่ ฟองดูว์นั้น ประชาชนสามารถลอยเรื่องที่อยากให้ผู้บริหารทำ หรือปรับปรุง ซึ่งจะส่งเรื่องไปยังสำนัก และเขตต่างๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเพิ่มฟังก์ชั่นในทราฟฟี่ฟองดูว์
จากกระทง สู่ขยะ ตี 5 ต้องจบ!
สำหรับการจัดเก็บกระทงอันงดงามที่สุดท้ายจะกลายเป็น ‘ขยะ’ ชั่วข้ามคืน ชัชชาติเผยว่า ได้สั่งการให้เก็บขยะให้หมดภายในเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยปีที่แล้วมีกระทงมาจากธรรมชาติ 95.3% กระทงจากโฟม 4.7% ซึ่งกระทงธรรมชาตินำไปทำเป็นปุ๋ยหมักต่อ ส่วนกระทงโฟมจะถูกฝังกลบนั่นเอง
“ปีนี้คาดว่าคนจะออกมาลอยกระทงเยอะ ไม่มีสถานการณ์ โควิดแล้ว การเดินทางท่องเที่ยวกลับคืนมา แต่อย่างที่บอกลอยแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ดี หรือแค่ตั้งจิตอธิษฐานก็ได้” ชัชชาติแนะทางเลือกไม่เพิ่มขยะในแม่น้ำลำคลอง
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของมาตรการกรุงเทพมหานครในปีนี้ที่มีต่อเทศกาลสำคัญของคนไทย เพื่อให้ลอยกระทงอย่างปลอดภัย ไม่เป็นภาระของพระแม่คงคาที่ควรได้รับการขอขมาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บรรยายใต้ภาพ
วรชล ถาวรพงษ์ ผอ.เขตบางกอกน้อย ลุยตรวจความปลอดภัยโป๊ะและท่าเรือ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. แถลงเทศกาลลอยกระทง 2566
การจัดเก็บขยะกระทงเมื่อปี’65 พบว่าทำจากวัสดุธรรมชาติ 95.3% กระทงโฟม 4.7%
สำนักงานเขตบางพลัด เร่งขัดพื้นบันไดท่าน้ำใต้สะพานพระราม 8 จุดจัดยิ่งใหญ่งานลอยกระทง
พนักงานกวาด เขตบางพลัด ลุยทำความสะอาดใต้สะพานพระราม 8
ปี 65 เกิดเหตุเฉียดระทึก ประชาชนติดแหง็กบนสะพานพระราม 8 ปีนี้ กทม.เข้มดูกล้อง 37 ตัวทั่วพื้นที่
คลองโอ่งอ่างสุดตระการตา ลอยได้ทั้งในพื้นที่จริงและผ่านระบบดิจิทัล
กทม.เน้นย้ำใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ
กทม.ชวนสแกนคิวอาร์โค้ด ลอยกระทงดิจิทัลอธิษฐานจิต ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2566 (กรอบบ่าย)